สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง โดยนักลงทุนคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจมีโอกาสให้ได้ปรับลดดอกเบี้ยในปีนี้ แม้เจ้าหน้าที่เฟดหลายคนมีท่าทีค่อนข้างระมัดระวังก็ตาม
ณ เวลา 19.45 น.ตามเวลาไทย ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลบ 0.10% สู่ระดับ 104.57 ขณะที่ดอลลาร์ขยับลง 0.02% สู่ระดับ 1.0845 ดอลลาร์เทียบยูโร และอ่อนค่าลง 0.32% สู่ระดับ 156.77 เยน
โดยทั่วไปแล้ว เมื่ออัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นก็จะดันให้ค่าเงินสูงขึ้นตามไปด้วย เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นมักดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ เพราะจะทำให้ได้ผลตอบแทนมากขึ้นเมื่อลงทุนกับพันธบัตรและผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่ให้ผลตอบแทนในรูปดอกเบี้ย ทำให้สกุลเงินนั้นเป็นที่ต้องการมากขึ้นและทำให้เงินแข็งค่าขึ้น ในทางกลับกัน เมื่ออัตราดอกเบี้ยลดลงจะทำให้ต่างชาติสนใจลงทุนลดลง และทำให้เงินสกุลนั้นอ่อนค่าลง
การซื้อขายได้รับอิทธิพลหลังสหรัฐเปิดเผยข้อมูลที่บ่งชี้ว่า เงินเฟ้อของสหรัฐเพิ่มขึ้นตามคาดในเดือนเม.ย. ซึ่งแม้จะไม่ได้บ่งชี้อย่างชัดเจนว่าเฟดจะสามารถปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงได้เร็วเพียงใด แต่ก็ทำให้นักลงทุนเริ่มคาดการณ์กันว่าเฟดอาจมีโอกาสให้ปรับลดดอกเบี้ยได้ในปีนี้
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยเมื่อวันศุกร์ (31 พ.ค.) ว่า ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลทั่วไป (Headline PCE) ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 2.7% ในเดือนเม.ย. เมื่อเทียบรายปี สอดคล้องตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ และเมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE ทั่วไป ปรับตัวขึ้น 0.3% ในเดือนเม.ย. สอดคล้องตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์
ส่วนดัชนี PCE พื้นฐาน (Core PCE) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญ ปรับตัวขึ้น 2.8% ในเดือนเม.ย. เมื่อเทียบรายปี สอดคล้องตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ และเมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE พื้นฐานปรับตัวขึ้น 0.2% ในเดือนเม.ย. ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 0.3%
ดัชนี PCE ถือเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่สามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)