ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ดอลล์อ่อนค่า คาดเฟดหั่นดบ.หลังภาคการผลิตสหรัฐชะลอตัว

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday June 4, 2024 07:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันจันทร์ (3 มิ.ย.) หลังสหรัฐเปิดเผยดัชนีภาคการผลิตที่อ่อนแอเกินคาด ซึ่งทำให้ตลาดคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เริ่มพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้

ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.51% แตะที่ระดับ 104.140

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 156.22 เยน จากระดับ 157.19 เยนในวันศุกร์ (31 พ.ค.) นอกจากนี้ ดอลลาร์ยังอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.8956 ฟรังก์ จากระดับ 0.9014 ฟรังก์ และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับโครนาสวีเดน ที่ระดับ 10.4107 โครนา จากระดับ 10.5259 โครนา แต่ดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3646 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3620 ดอลลาร์แคนาดา

ส่วนยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.0897 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0853 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.2797 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2744 ดอลลาร์

สถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยว่า ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐปรับตัวลงสู่ระดับ 48.7 ในเดือนพ.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 3 เดือน จากระดับ 49.2 ในเดือนเม.ย. และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะอยู่ที่ 49.6 โดยดัชนีปรับตัวต่ำกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ว่าภาคการผลิตของสหรัฐอยู่ในภาวะหดตัว

หลังสหรัฐเปิดเผยดัชนีภาคการผลิต เครื่องมือ FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 59% ที่เฟดจะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนก.ย. ซึ่งเพิ่มขึ้นจากระดับ 53% ก่อนที่สหรัฐจะเปิดเผยข้อมูลดังกล่าว

นอกจากนี้ ดัชนีภาคการผลิตที่อ่อนแอเกินคาดของสหรัฐยังส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปรับตัวลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 2 สัปดาห์

นักลงทุนจับตาข้อมูลเศรษฐกิจเพิ่มเติมในสัปดาห์นี้เพื่อหาสัญญาณที่ชัดเจนมากขึ้นเกี่ยวกับช่วงเวลาที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย โดยข้อมูลดังกล่าวรวมถึงตัวเลขการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) , ยอดสั่งซื้อภาคโรงงาน, ตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนจาก ADP, ดัชนีภาคบริการจากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) และตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ