ดอลลาร์อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง หลังการเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อที่ต่ำกว่าคาดของสหรัฐ ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)
ณ เวลา 19.52 น.ตามเวลาไทย ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลบ 0.71% สู่ระดับ 104.48 ขณะที่ดอลลาร์อ่อนค่า 0.77% สู่ระดับ 1.082 เทียบยูโร และร่วงลง 0.5% สู่ระดับ 156.33 เยน
นักลงทุนหันมาเทน้ำหนักต่อคาดการณ์ที่ว่า เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 2 ครั้งในปีนี้ โดยปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในเดือนก.ย. และปรับลดอีกครั้งในเดือนธ.ค. หลังการเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อที่ต่ำกว่าคาดในวันนี้
ก่อนหน้านี้ นักลงทุนคาดการณ์ว่า เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพียงครั้งเดียวในปีนี้ในการประชุมเดือนพ.ย. หลังการเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรที่แข็งแกร่งเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 59.9% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.00-5.25% ในการประชุมเดือนก.ย. จากเดิมที่ให้น้ำหนักเพียง 46.8% เมื่อวานนี้
นอกจากนี้ นักลงทุนให้น้ำหนัก 43.9% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 4.75-5.00% ในการประชุมเดือนธ.ค. จากเดิมที่ให้น้ำหนักเพียง 37.3% เมื่อวานนี้
กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค ประจำเดือนพ.ค.ในวันนี้
ทั้งนี้ ดัชนี CPI ทั่วไป (Headline CPI) ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 3.3% ในเดือนพ.ค. เมื่อเทียบรายปี ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 3.4% จากระดับ 3.4% ในเดือนเม.ย.
เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี CPI ทั่วไป ไม่เปลี่ยนแปลงในเดือนพ.ค. หรือปรับตัวขึ้น 0.0% ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าปรับตัวขึ้น 0.1% จากระดับ 0.3% ในเดือนเม.ย.
ส่วนดัชนี CPI พื้นฐาน (Core CPI) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 3.4% ในเดือนพ.ค. เมื่อเทียบรายปี ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 3.5% จากระดับ 3.6% ในเดือนเม.ย.
เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี CPI พื้นฐาน ปรับตัวขึ้น 0.2% ในเดือนพ.ค. ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.3% จากระดับ 0.3% ในเดือนเม.ย.