ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันอังคาร (9 ก.ค.) โดยดอลลาร์ปรับตัวตามทิศทางอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐที่ดีดตัวขึ้น ในขณะที่นักลงทุนจับตาการเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐในสัปดาห์นี้อย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)
ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.12% แตะที่ระดับ 105.129
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 161.31 เยน จากระดับ 160.79 เยนในวันจันทร์ (8 ก.ค.) และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.8979 ฟรังก์ จากระดับ 0.8971 ฟรังก์ แต่ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3630 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3639 ดอลลาร์แคนาดา
ส่วนยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.0813 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0826 ดอลลาร์ในวันจันทร์ และเงินปอนด์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.2788 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2812 ดอลลาร์
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า หลังจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีดีดตัวขึ้นแตะระดับ 4.316% และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 30 ปีปรับตัวขึ้นแตะที่ระดับ 4.505%
นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟดได้แถลงนโยบายการเงินและภาวะเศรษฐกิจสหรัฐรอบครึ่งปีต่อคณะกรรมาธิการการธนาคารประจำวุฒิสภาสหรัฐเมื่อวานนี้ว่า "แม้มีความคืบหน้าในการปรับลดเงินเฟ้อและลดความร้อนแรงในตลาดแรงงานในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เงินเฟ้อไม่ใช่ความเสี่ยงประการเดียวที่เราเผชิญ แต่การผ่อนคลายนโยบายการเงินที่ช้าเกินไปหรือน้อยเกินไปอาจสร้างความอ่อนแอต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการจ้างงาน"
นายพาวเวลยังกล่าวด้วยว่า "เศรษฐกิจสหรัฐยังคงมีความแข็งแกร่งเช่นเดียวกับตลาดแรงงาน แม้มีการชะลอตัวลงบ้างในช่วงที่ผ่านมา ส่วนเงินเฟ้อได้ชะลอตัวลง ในขณะเดียวกันเฟดยังคงมีความมุ่งมั่นในการทำให้เงินเฟ้อปรับตัวลงสู่ระดับเป้าหมาย 2% โดยตัวเลขเงินเฟ้อรายเดือนครั้งล่าสุดได้แสดงให้เห็นถึงความคืบหน้า และถ้าหากยังคงมีข้อมูลที่ดีปรากฎออกมาอีก ก็จะช่วยให้เฟดมีความเชื่อมั่นมากขึ้นว่าเงินเฟ้อกำลังปรับตัวไปสู่ระดับ 2% อย่างยั่งยืน"
แม้ถ้อยแถลงดังกล่าวของนายพาวเวลไม่ได้ส่งสัญญาณเกี่ยวกับช่วงเวลาที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย แต่เครื่องมือ FedWatch Tool ของ CME บ่งชี้ว่า นักลงทุนยังคงคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% จำนวน 2 ครั้งในปีนี้ โดยให้น้ำหนักเกือบ 72% ที่เฟดจะลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในการประชุมเดือนก.ย. เทียบกับการให้น้ำหนักที่ระดับต่ำกว่า 50% ในเดือนที่แล้ว
นักลงทุนยังคงจับตานายพาวเวลซึ่งมีกำหนดแถลงนโยบายการเงินและภาวะเศรษฐกิจสหรัฐรอบครึ่งปีต่อคณะกรรมาธิการบริการการเงินประจำสภาผู้แทนราษฎรในวันนี้ (10 ก.ค.) พร้อมกับรอดูตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐในสัปดาห์นี้เพื่อหาสัญญาณที่ชัดเจนเกี่ยวกับทิศทางอัตราดอกเบี้ยของเฟด โดยสหรัฐจะเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ประจำเดือนมิ.ย.ในวันพฤหัสบดีนี้ (11 ก.ค.) และดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ประจำเดือนมิ.ย.ในวันศุกร์ (12 ก.ค.)