ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันศุกร์ (12 ก.ค.) หลังจากสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ที่ต่ำกว่าคาดในวันพฤหัสบดี (11 ก.ค.) ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และดอลลาร์ร่วงลงอย่างรุนแรงเมื่อเทียบกับเยนเป็นวันที่ 2 ติดต่อกัน ซึ่งทำให้เกิดคำถามในตลาดว่า ญี่ปุ่นได้เข้าแทรกแซงตลาดปริวรรตเงินตราหรือไม่
ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.33% แตะที่ระดับ 104.093
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงแตะ 157.92 เยนในวันศุกร์ (12 ก.ค.) จากระดับ 158.75 เยนในวันพฤหัสบดี (11 ก.ค.), ดอลลาร์อ่อนค่าลงแตะ 0.8947 ฟรังก์สวิส จาก 0.8955 ฟรังก์สวิส และอ่อนค่าลงแตะ 1.3630 ดอลลาร์แคนาดา จาก 1.3632 ดอลลาร์แคนาดา
ส่วนยูโรแข็งค่าขึ้นแตะ 1.0906 ดอลลาร์สหรัฐในวันศุกร์ จากระดับ 1.0868 ดอลลาร์สหรัฐในวันพฤหัสบดี และปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะ 1.2989 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 1.2913 ดอลลาร์สหรัฐ
ดอลลาร์ไม่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเผยดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ที่สูงกว่าคาดในวันศุกร์ ซึ่งจะเป็นปัจจัยทำให้เฟดตรึงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงยาวนานกว่าที่มีการคาดการณ์ไว้
กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยดัชนี PPI ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้ผลิต ประจำเดือนมิ.ย.ในวันศุกร์
ทั้งนี้ ดัชนี PPI ทั่วไป (Headline PPI) ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 2.6% ในเดือนมิ.ย. เมื่อเทียบรายปี สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 2.3% จากระดับ 2.4% ในเดือนพ.ค. และเมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PPI ทั่วไป ปรับตัวขึ้น 0.2% ในเดือนมิ.ย. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.1% หลังจากปรับตัวขึ้น 0.0% หรือไม่มีการเปลี่ยนแปลงในเดือนพ.ค.
ส่วนดัชนี PPI พื้นฐาน (Core PPI) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 3.0% ในเดือนมิ.ย. เมื่อเทียบรายปี สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 2.5% จากระดับ 2.6% ในเดือนพ.ค. และเมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PPI พื้นฐาน ปรับตัวขึ้น 0.4% ในเดือนมิ.ย. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.2% จากระดับ 0.3% ในเดือนพ.ค.