ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ดอลล์แข็งค่าเทียบเงินสกุลหลัก รับยอดค้าปลีกสหรัฐดีเกินคาด

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday July 17, 2024 07:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันอังคาร (16 ก.ค.) หลังสหรัฐเปิดเผยยอดค้าปลีกที่แข็งแกร่งเกินคาด ซึ่งทำให้นักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับการใช้จ่ายของผู้บริโภคและภาวะเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐ

ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.08% แตะที่ระดับ 104.270

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 158.35 เยน จากระดับ 157.86 เยนในวันจันทร์ (15 ก.ค.) และแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3679 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3671 ดอลลาร์แคนาดา แต่ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.8943 ฟรังก์ จากระดับ 0.8956 ฟรังก์

ส่วนยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.0896 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0901 ดอลลาร์ และเงินปอนด์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.2969 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2972 ดอลลาร์

กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ยอดค้าปลีกปรับตัวขึ้น 0.0% หรือไม่มีการเปลี่ยนแปลงในเดือนมิ.ย. เมื่อเทียบรายเดือน สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลง 0.3% หลังจากที่ปรับตัวขึ้น 0.3% ในเดือนพ.ค. ส่วนเมื่อเทียบรายปี ยอดค้าปลีกเพิ่มขึ้น 2.3% ในเดือนมิ.ย. หลังจากปรับตัวขึ้น 2.6% ในเดือนพ.ค.

หากไม่รวมยอดขายรถยนต์และน้ำมัน ยอดค้าปลีกเพิ่มขึ้น 0.8% ในเดือนมิ.ย. เมื่อเทียบรายเดือน สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.2% จากระดับ 0.3% ในเดือนพ.ค.

ทั้งนี้ ยอดค้าปลีกที่แข็งแกร่งเกินคาดทำให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นว่า การใช้จ่ายของผู้บริโภคซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 70% ของระบบเศรษฐกิจสหรัฐนั้นยังคงฟื้นตัว แม้เฟดใช้นโยบายคุมเข้มด้านการเงินในช่วงที่ผ่านมาก็ตาม และข้อมูลดังกล่าวยังช่วยให้นักลงทุนคลายความกังวลว่าอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูงจะไม่ส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอย

นักลงทุนจับตาข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐในสัปดาห์นี้ ซึ่งรวมถึงตัวเลขการเริ่มสร้างบ้านและการอนุญาตก่อสร้างเดือนมิ.ย., การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนมิ.ย., รายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจ หรือ Beige Book จากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และดัชนีชี้นำเศรษฐกิจเดือนมิ.ย.จาก Conference Board


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ