ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ยูโรอ่อนค่าเทียบดอลล์ หลัง ECB มีมติคงดอกเบี้ย

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday July 19, 2024 07:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันพฤหัสบดี (18 ก.ค.) หลังธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเมื่อวานนี้

ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.41% แตะที่ระดับ 104.173

ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.0899 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0937 ดอลลาร์ในวันพุธ (17 ก.ค.) ส่วนเงินปอนด์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.2948 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3006 ดอลลาร์

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 157.29 เยน จากระดับ 156.10 เยนในวันพุธ นอกจากนี้ ดอลลาร์ยังแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.8871 ฟรังก์ จากระดับ 0.8836 ฟรังก์ และแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3711 ดอลลาร์แคนา จากระดับ 1.3690 ดอลลาร์แคนาดา

ธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเมื่อวานนี้ ตามการคาดการณ์ของตลาด โดยการตรึงอัตราดอกเบี้ยของ ECB ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากอยู่ที่ระดับ 3.75% ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้อยู่ที่ระดับ 4.50% ส่วนอัตราดอกเบี้ยรีไฟแนนซ์อยู่ที่ระดับ 4.25%

นางคริสติน ลาการ์ด ประธาน ECB ระบุเมื่อวันที่ 4 ก.ค.ว่า ECB ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมที่จะสร้างความมั่นใจว่าอัตราเงินเฟ้อปรับตัวลงสู่เป้าหมายที่ระดับ 2% ก่อนที่จะดำเนินการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก

นักลงทุนให้น้ำหนัก 80% ต่อคาดการณ์ที่ว่า ECB จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมเดือนก.ย. ก่อนที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% อีกครั้งในเดือนธ.ค.

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรก เพิ่มขึ้น 20,000 ราย สู่ระดับ 243,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 12 ส.ค. 2566 และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 229,000 ราย

ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาฟิลาเดลเฟียเปิดเผยว่า ดัชนีภาคการผลิตในภูมิภาคมิด-แอตแลนติก พุ่งขึ้น 13 จุด สู่ระดับ +13.9 ในเดือนก.ค. และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ +2.9

ทั้งนี้ ดัชนีภาคการผลิตมีค่าเป็นบวกบ่งชี้ว่า ภาคการผลิตในภูมิภาคมิด-แอตแลนติกมีการขยายตัว โดยได้แรงหนุนจากการเพิ่มขึ้นของคำสั่งซื้อใหม่และการจ้างงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ