ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันอังคาร (27 ส.ค.) ขณะที่นักลงทุนจับตาข้อมูลเงินเฟ้อของสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิด เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้แนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด)
ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.29% แตะที่ระดับ 100.554
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 144.02 เยน จากระดับ 144.51 เยนในวันจันทร์ (26 ส.ค.) นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังอ่อนค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.8414 ฟรังก์ จากระดับ 0.8471 ฟรังก์ และอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3448 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3475 ดอลลาร์แคนาดา
ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1185 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1163 ดอลลาร์ในวันจันทร์ ส่วนเงินปอนด์แข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.3259 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3190 ดอลลาร์
Conference Board เปิดเผยผลสำรวจระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 103.3 ในเดือนส.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 6 เดือน จากระดับ 101.9 ในเดือนก.ค. อย่างไรก็ดี ผู้บริโภคมีความวิตกกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับตลาดแรงงาน หลังจากอัตราว่างงานเดือนก.ค.พุ่งขึ้นแตะระดับ 4.3% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบเกือบ 3 ปี
นักวิเคราะห์จาก UBS Global Wealth Management คาดการณ์ว่า มีโอกาส 25% ที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเข้าสู่ภาวะถดถอย ซึ่งเพิ่มขึ้นจากระดับ 20% ในการคาดการณ์ครั้งก่อน โดยระบุถึงตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นน้อยกว่าคาดในเดือนก.ค.
นักลงทุนจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ประจำเดือนก.ค.ของสหรัฐฯ ในวันศุกร์นี้ โดยดัชนี PCE เป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ เนื่องจากสามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)
นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ดัชนี PCE ทั่วไป (Headline PCE) ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน จะเพิ่มขึ้น 2.5% ในเดือนก.ค. เมื่อเทียบรายปี หลังจากปรับตัวขึ้น 2.5% เช่นกันในเดือนมิ.ย. และคาดว่าดัชนี PCE พื้นฐาน (Core PCE) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน จะเพิ่มขึ้น 2.7% ในเดือนก.ค. เมื่อเทียบรายปี หลังจากที่เพิ่มขึ้น 2.6% ในเดือนมิ.ย.