ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันพุธ (25 ก.ย.) หลังจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่นักลงทุนจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ของสหรัฐฯ และการแสดงความเห็นของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ซึ่งรวมถึงเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด ในสัปดาห์นี้
ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.44% แตะที่ระดับ 100.912
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 144.68 เยน จากระดับ 143.41 เยนในวันอังคาร (24 ก.ย.) นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.8498 ฟรังก์ จากระดับ 0.8442 ฟรังก์ และแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3480 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3444 ดอลลาร์แคนาดา
ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1134 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1166 ดอลลาร์ในวันอังคาร ส่วนเงินปอนดอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.3320 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3400 ดอลลาร์
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ดีดตัวขึ้นแตะระดับ 3.770% เมื่อคืนนี้ ท่ามกลางความวิตกกังวลว่าการผ่อนคลายนโยบายการเงินอาจจะส่งผลให้เงินเฟ้อกลับมาพุ่งขึ้นอีกครั้ง
เครื่องมือ FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นเป็น 57.4% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมเดือนพ.ย. หลังจากให้น้ำหนักเพียง 37.0% เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ รายงานว่า ยอดขายบ้านใหม่ลดลง 4.7% สู่ระดับ 716,000 ยูนิตในเดือนส.ค. เมื่อเทียบรายเดือน แต่สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 700,000 ยูนิต จากระดับ 751,000 ยูนิตในเดือนก.ค.
นักลงทุนจับตาการแสดงความเห็นของเจ้าหน้าที่เฟดหลายรายในสัปดาห์นี้ ซึ่งรวมถึงเจอโรม พาวเวล ประธานเฟดที่มีกำหนดกล่าวสุนทรพจน์ในการประชุมว่าด้วยตลาดพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ในวันนี้ (26 ก.ย.) เวลา 09.20 น.ตามเวลาสหรัฐฯ หรือ 20.20 น.ตามเวลาไทย
นอกจากนี้ นักลงทุนจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ประจำเดือนส.ค.ของสหรัฐฯ ในวันศุกร์นี้ โดยดัชนี PCE เป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ เนื่องากสามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)