ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันพฤหัสบดี (26 ก.ย.) เนื่องจากนักลงทุนเทขายดอลลาร์ในช่วงท้ายตลาด หลังจากดอลลาร์แข็งค่าในระหว่างวันขานรับข้อมูลเศรษฐกิจและข้อมูลแรงงานที่แข็งแกร่งของสหรัฐฯ ขณะที่นักลงทุนจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ของสหรัฐฯ ในวันนี้ เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ทิศทางเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด)
ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.39% แตะที่ระดับ 100.522
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 144.62 เยน จากระดับ 144.68 เยนในวันพุธ (25 ก.ย.) นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.8458 ฟรังก์ จากระดับ 0.8498 ฟรังก์ และอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3470 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3480 ดอลลาร์แคนาดา
ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1179 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1134 ดอลลาร์ ส่วนเงินปอนด์แข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.3419 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3320 ดอลลาร์
ดอลลาร์แข็งค่าในระหว่างวัน ทางการสหรัฐฯ เปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งเมื่อคืนนี้ ซึ่งช่วยให้ตลาดคลายความวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย โดยกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เปิดเผยการประมาณการครั้งที่ 3 ของตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 2/2567 โดยระบุว่า GDP ขยายตัว 3.0% ซึ่งสอดคล้องกับการประมาณการครั้งที่ 2 หลังจากมีการขยายตัวเพียง 1.4% ในไตรมาส 1/2567 โดยได้แรงหนุนจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคและการลงทุนของภาคเอกชน
กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เปิดเผยว่าตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรก ลดลง 4,000 ราย สู่ระดับ 218,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 4 เดือน และต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 224,000 ราย
เจอโรม พาวเวล ประธานเฟดได้กล่าวสุนทรพจน์ในช่วงเปิดการประชุมว่าด้วยตลาดพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ เมื่อวานนี้ โดยกล่าวถึงความสำคัญของตลาดพันธบัตรสหรัฐฯ ที่มีต่อเศรษฐกิจโลก โดยระบุว่าพันธบัตรสหรัฐฯ เป็นสินทรัพย์ที่มีบทบาทสำคัญในการแปลงเป็นเงินสดเพื่อเพิ่มสภาพคล่องในยามที่เกิดภาวะตึงตัวในระบบการเงิน แต่พาวเวลไม่ได้กล่าวถึงนโยบายการเงินหรือส่งสัญญาณถึงทิศทางอัตราดอกเบี้ยในการกล่าวสุนทรพจน์ครั้งนี้
นักลงทุนจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ประจำเดือนส.ค.ของสหรัฐฯ ในวันนี้ โดยดัชนี PCE เป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ เนื่องจากสามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)