ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันศุกร์ (27 ก.ย.) สอดคล้องการปรับตัวลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ หลังการเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ที่ต่ำกว่าคาด
ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.14% แตะที่ระดับ 100.382
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงแตะ 142.19 เยนในวันศุกร์ (27 ก.ย.) จากระดับ 144.62 เยนในวันพฤหัสบดี (26 ก.ย.) และดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงแตะ 0.8407 ฟรังก์สวิส จาก 0.8458 ฟรังก์สวิส แต่ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าแตะ 1.3512 ดอลลาร์แคนาดา จาก 1.3470 ดอลลาร์แคนาดา
ส่วนยูโรอ่อนค่าลงแตะ 1.1167 ดอลลาร์สหรัฐในวันศุกร์ จาก 1.1179 ดอลลาร์ในวันพฤหัสบดี และปอนด์อ่อนค่าลงแตะ 1.3386 ดอลลาร์ จาก 1.3419 ดอลลาร์
นอกจากนี้ เยนแข็งค่าขึ้นในวันศุกร์ หลังนายชิเงรุ อิชิบะ อดีตรัฐมนตรีกลาโหมของญี่ปุ่น ชนะการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคเสรีประชาธิปไตย (LDP) ซึ่งเป็นพรรครัฐบาล ส่งผลให้นายอิชิบะกลายเป็นว่าที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของญี่ปุ่น
ที่ผ่านมา นายอิชิบะมักวิพากษ์วิจารณ์การใช้นโยบายกระตุ้นทางการเงินของญี่ปุ่น และได้สนับสนุนแนวทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ)
นายอิชิบะจะเข้าพิธีสาบานตนรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 102 ของญี่ปุ่นในวันอังคารที่ 1 ต.ค. ซึ่งนายฟูมิโอะ คิชิดะ จะลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการ และคาดว่าจะมีการประกาศรายชื่อคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ในวันเดียวกัน
นักลงทุนเพิ่มน้ำหนักต่อคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในเดือนพ.ย. หลังการเปิดเผยดัชนี PCE ในวันศุกร์
ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 56.7% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.50% สู่ระดับ 4.25-4.50% ในการประชุมเดือนพ.ย. หลังจากให้น้ำหนักเพียง 49.9% ก่อนการเปิดเผยข้อมูล PCE
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยในวันศุกร์ว่า ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลทั่วไป (Headline PCE) ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 2.2% ในเดือนส.ค. เมื่อเทียบรายปี ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 2.3% จากระดับ 2.5% ในเดือนก.ค. และเมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE ทั่วไป ปรับตัวขึ้น 0.1% ในเดือนส.ค. ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 0.2% จากระดับ 0.2% ในเดือนก.ค.
ส่วนดัชนี PCE พื้นฐาน (Core PCE) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญ ปรับตัวขึ้น 2.7% ในเดือนส.ค. เมื่อเทียบรายปี สอดคล้องตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ จากระดับ 2.6% ในเดือนก.ค. และเมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE พื้นฐานปรับตัวขึ้น 0.1% ในเดือนส.ค. ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 0.2% จากระดับ 0.2% ในเดือนก.ค.
ทั้งนี้ ดัชนี PCE ถือเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่สามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)