ดอลลาร์อ่อนค่าเทียบสกุลเงินหลัก หลังการเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรต่ำสุดในรอบเกือบ 4 ปี ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)
ณ เวลา 20.22 น.ตามเวลาไทย ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลบ 0.02% สู่ระดับ 103.95
ทั้งนี้ การอ่อนค่าของดอลลาร์สอดคล้องกับการปรับตัวลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ หลังการเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานในวันนี้
นักลงทุนเริ่มให้น้ำหนักต่อคาดการณ์ที่ว่า เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมสัปดาห์หน้า หลังการเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรต่ำสุดในรอบเกือบ 4 ปี
ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 1.2% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.50% สู่ระดับ 4.25-4.50% ในการประชุมวันที่ 6-7 พ.ย. รวมทั้งให้น้ำหนัก 98.8% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 4.50-4.75%
กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นเพียง 12,000 ตำแหน่งในเดือนต.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 4 ปี หรือนับตั้งแต่เดือนธ.ค.2563 และต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 100,000 ตำแหน่ง หลังจากเพิ่มขึ้น 223,000 ตำแหน่งในเดือนก.ย.
ส่วนอัตราการว่างงานทรงตัวที่ระดับ 4.1% สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์
ทั้งนี้ การจ้างงานในเดือนต.ค.ได้รับผลกระทบจากพายุเฮอร์ริเคนเฮลีนและมิลตันที่พัดถล่มสหรัฐ รวมทั้งการผละงานประท้วงของพนักงานบริษัทโบอิ้ง
โกลด์แมน แซคส์คาดการณ์ว่า พายุเฮลีนทำให้ตัวเลขการจ้างงานลดลงราว 50,000 ตำแหน่ง ขณะที่การผละงานประท้วงของพนักงานบริษัทโบอิ้งทำให้การจ้างงานลดลง 41,000 ตำแหน่ง
ทั้งนี้ ภาคเอกชนมีการจ้างงานลดลง 28,000 ตำแหน่งในเดือนต.ค. ขณะที่ภาครัฐมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 40,000 ตำแหน่ง
นางจูเลีย โพลแลค หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ ZipRecruiter กล่าวว่า "รายงานจ้างงานดังกล่าวบ่งชี้ว่าตลาดแรงงานสหรัฐยังคงมีการขยายตัว แต่ในอัตราที่ช้าลง ซึ่งจะทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จำเป็นต้องยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อยุติการชะลอตัวของตลาดแรงงาน"