ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันอังคาร (5 พ.ย.) ท่ามกลางความไม่แน่นอนของผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ขณะที่นักลงทุนจับตาผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ในสัปดาห์นี้
ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.45% แตะที่ 103.421
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 151.46 เยน จากระดับ 152.15 เยนในวันจันทร์ (4 พ.ย.) นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังอ่อนค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.8631 ฟรังก์ จากระดับ 0.8637 ฟรังก์ และอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3841 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3898 ดอลลาร์แคนาดา
ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.0931 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0879 ดอลลาร์ในวันจันทร์ ส่วนเงินปอนด์แข็งเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.3021 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2954 ดอลลาร์
โพลล่าสุดบ่งชี้ว่าคะแนนของโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้สมัครจากพรรครีพับลิกัน และคามาลา แฮร์ริส คู่แข่งจากพรรคเดโมแครต สูสีกันจนยังไม่สามารถคาดเดาผู้ชนะได้
ก่อนหน้านี้ ดอลลาร์แข็งค่าจากการคาดการณ์ที่ว่าทรัมป์จะชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดยนักวิเคราะห์ระบุว่า ชัยชนะของทรัมป์จะเป็นปัจจัยบวกต่อค่าเงินดอลลาร์ เนื่องจากแผนการปรับลดอัตราภาษี การผ่อนคลายกฎระเบียบในภาคการเงิน รวมทั้งการตั้งกำแพงภาษีสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากจีน จะส่งผลกระทบต่อสกุลเงินเอเชีย และจะเพิ่มความผันผวนในตลาดการเงิน ซึ่งจะเอื้อประโยชน์ต่อดอลลาร์ในที่สุด
นอกจากนี้ มีการคาดการณ์ว่ามาตรการต่าง ๆ ของทรัมป์จะเป็นปัจจัยกระตุ้นเงินเฟ้อ ซึ่งจะส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ชะลอการปรับลดอัตราดอกเบี้ย และจะหนุนให้ดอลลาร์แข็งค่าขึ้น
ตลาดจับตาการแถลงผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ในวันพฤหัสบดี (7 พ.ย.) โดยนักลงทุนให้น้ำหนักเกือบ 100% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 4.50-4.75% ในการประชุมครั้งนี้ แต่แนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในอนาคตนั้นยังไม่แน่นอน เมื่อพิจารณาจากความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจสหรัฐฯ
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจที่มีการรายงานเมื่อคืนนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เปิดเผยว่า ตัวเลขขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ พุ่งขึ้น 19.2% สู่ระดับ 8.44 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนก.ย. สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 8.41 หมื่นล้านดอลลาร์ จากระดับ 7.08 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนส.ค.
ทั้งนี้ การนำเข้าในเดือนก.ย.พุ่งขึ้น 3% สู่ระดับ 3.523 แสนล้านดอลลาร์ ขณะที่การส่งออกลดลงสู่ระดับ 2.679 แสนล้านดอลลาร์
ทางด้านสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐฯ (ISM) เปิดเผยว่า ดัชนีภาคบริการปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 56.0 ในเดือนต.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนส.ค. 2565 จากระดับ 54.9 ในเดือนก.ย. และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 53.8