ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันพฤหัสบดี (21 พ.ย.) หลังสหรัฐฯ เปิดเผยยอดขายบ้านมือสองที่สูงกว่าคาด และตัวเลขผู้ขอสวัสดิการว่างงานที่ต่ำกว่าคาด ซึ่งบ่งชี้ถึงเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง และทำให้นักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย
ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.27% แตะที่ระดับ 106.972
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.8863 ฟรังก์ จากระดับ 0.8844 ฟรังก์ในวันพุธ (20 พ.ย.) แต่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 154.51 เยน จากระดับ 155.37 เยน และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3964 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3984 ดอลลาร์แคนาดา
ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.0484 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0539 ดอลลาร์ในวันพุธ ส่วนเงินปอนด์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.2602 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2647 ดอลลาร์
สมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์แห่งชาติของสหรัฐ (NAR) เปิดเผยว่า ยอดขายบ้านมือสองเพิ่มขึ้น 3.4% สู่ระดับ 3.96 ล้านยูนิตในเดือนต.ค. เมื่อเทียบรายเดือน และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 3.95 ล้านยูนิต
กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรก ลดลง 6,000 ราย สู่ระดับ 213,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว และต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 220,000 ราย
ขณะเดียวกัน นักลงทุนจับตาถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ทิศทางอัตราดอกเบี้ย
นักลงทุนปรับลดน้ำหนักต่อคาดการณ์ที่ว่า เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในเดือนธ.ค. ขณะที่เพิ่มน้ำหนักต่อคาดการณ์ที่ว่า เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยในเดือนดังกล่าว ส่งผลให้ขณะนี้นักลงทุนให้น้ำหนักต่อคาดการณ์การปรับลดอัตราดอกเบี้ยและคงอัตราดอกเบี้ยเข้าใกล้ 50/50
ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 52% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 4.25-4.50% ในการประชุมเดือนธ.ค. หลังจากให้น้ำหนักมากถึง 72% เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
นอกจากนี้ นักลงทุนให้น้ำหนัก 48% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 4.50-4.75% ในการประชุมเดือนธ.ค. หลังจากให้น้ำหนักเพียง 27% เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว