ดอลลาร์แข็งค่าอย่างต่อเนื่องเทียบสกุลเงินหลัก หลังการเปิดเผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและภาคบริการที่แข็งแกร่งของสหรัฐ
ณ เวลา 22.35 น.ตามเวลาไทย ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน บวก 0.58% สู่ระดับ 107.59 ขณะที่ดอลลาร์แข็งค่า 0.65% สู่ระดับ 1.041 เทียบยูโร และดีดตัว 0.21% สู่ระดับ 154.86 เยน
เอสแอนด์พี โกลบอลเปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและภาคบริการเบื้องต้นของสหรัฐ ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 55.3 ในเดือนพ.ย. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 31 เดือน จากระดับ 54.1 ในเดือนต.ค.
ดัชนี PMI ยังคงอยู่เหนือระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้การขยายตัวของภาคธุรกิจสหรัฐ โดยได้รับแรงหนุนจากการขยายตัวของภาคบริการ ขณะที่ภาคการผลิตยังคงอยู่ในภาวะหดตัว
ทั้งนี้ คำสั่งซื้อใหม่ดีดตัวขึ้น แม้ว่าการจ้างงานชะลอตัวลง ขณะที่ภาคธุรกิจเพิ่มความเชื่อมั่นสู่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ค.2565 โดยได้แรงหนุนจากคาดการณ์การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด), การขยายตัวทางเศรษฐกิจ รวมทั้งคาดการณ์นโยบายของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐ ที่จะเอื้อต่อภาคธุรกิจ
ดัชนี PMI ภาคการผลิตเบื้องต้น ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 48.8 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 4 เดือน จากระดับ 48.5 ในเดือนต.ค. โดยดัชนี PMI ยังคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ว่าภาคการผลิตยังคงอยู่ในภาวะหดตัว
ส่วนดัชนี PMI ภาคบริการเบื้องต้น ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 57.0 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 32 เดือน จากระดับ 55.0 ในเดือนต.ค. โดยดัชนี PMI ยังคงอยู่สูงกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ว่าภาคบริการยังคงมีการขยายตัว
ยูโรทรุดตัวแตะระดับต่ำสุดในรอบ 2 ปีเทียบดอลลาร์ หลังเอสแอนด์พี โกลบอลเปิดเผยว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจของยูโรโซนทรุดตัวลงอย่างหนักในเดือนพ.ย. ซึ่งจะกดดันให้ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่ในเดือนธ.ค.
เอสแอนด์พี โกลบอลเปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิต-ภาคบริการเบื้องต้นของยูโรโซนจากฮัมบูร์ก คอมเมอร์เชียล แบงก์ (HCOB) ปรับตัวลงสู่ระดับ 48.1 ในเดือนพ.ย. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 10 เดือน และต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 50.0 จากระดับ 50.0 ในเดือนต.ค.
ดัชนี PMI อยู่ต่ำกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ภาวะหดตัวของภาคธุรกิจยูโรโซน โดยทั้งภาคการผลิตและบริการต่างอยู่ในภาวะหดตัว
ดัชนี PMI ได้รับผลกระทบจากการปรับตัวลงของคำสั่งซื้อใหม่และการจ้างงาน ขณะที่ความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจดิ่งลงแตะระดับต่ำสุดในรอบกว่า 1 ปี
ดัชนี PMI ภาคการผลิตเบื้องต้น ปรับตัวลงสู่ระดับ 45.2 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 2 เดือน จากระดับ 46.0 ในเดือนต.ค. โดยดัชนี PMI ยังคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ว่าภาคการผลิตยังคงอยู่ในภาวะหดตัว
ส่วนดัชนี PMI ภาคบริการเบื้องต้น ปรับตัวลงสู่ระดับ 49.2 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 10 เดือน จากระดับ 51.6 ในเดือนต.ค. โดยดัชนี PMI อยู่ต่ำกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ว่าภาคบริการอยู่ในภาวะหดตัว