ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันพฤหัสบดี (19 ธ.ค.) หลังสหรัฐฯ เปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจและแรงงานที่แข็งแกร่ง ซึ่งอาจเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ชะลอการปรับลดอัตราดอกเบี้ย
ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.36% แตะที่ระดับ 108.409
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 157.43 เยน จากระดับ 154.66 เยนในวันพุธ (18 ธ.ค.) แต่ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.8983 ฟรังก์ จากระดับ 0.9003 ฟรังก์ และอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.4388 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.4417 ดอลลาร์แคนาดา
ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 1.0362 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0376 ดอลลาร์ในวันพุธ ส่วนเงินปอนด์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.2505 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2593 ดอลลาร์
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งที่ 3 สำหรับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 3/2567 ในวันนี้ โดยระบุว่า GDP ขยายตัว 3.1% ในไตรมาสดังกล่าว โดยเพิ่มขึ้นจากระดับ 2.8% ของตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 และ 2 หลังจากมีการขยายตัว 3.0% ในไตรมาส 2/2567 และ 1.4% ในไตรมาส 1/2567
การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐในไตรมาส 3/2567 ได้รับแรงหนุนจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่แข็งแกร่ง และการพุ่งขึ้นของการส่งออก
ทางด้านกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เปิดเผยว่า ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรก ลดลง 22,000 ราย สู่ระดับ 220,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว และต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 229,000 ราย
เงินปอนด์อ่อนค่าลง หลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (MPC) ของธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) มีมติด้วยคะแนนเสียง 6-3 ในการคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 4.75% ในการประชุมเมื่อวานนี้ สอดคล้องกับการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์
นักลงทุนจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ของสหรัฐฯ ในวันนี้ ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ดัชนี PCE จะปรับตัวขึ้น 2.5% ในเดือนพ.ย. เมื่อเทียบรายปี หลังจากที่เพิ่มขึ้น 2.3% ในเดือนต.ค. และคาดว่าดัชนี PCE พื้นฐาน (Core PCE) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน จะเพิ่มขึ้น 2.9% ในเดือนพ.ย. เมื่อเทียบรายปี หลังจากที่เพิ่มขึ้น 2.8% ในเดือนต.ค.
ทั้งนี้ ดัชนี PCE เป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ เนื่องจากสามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)