ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันพุธ (8 ม.ค.) หลังจากมีรายงานว่า โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ มีแผนที่จะประกาศภาวะฉุกเฉินทางเศรษฐกิจแห่งชาติ เพื่อให้เขามีอำนาจในการใช้นโยบายตั้งกำแพงภาษีนำเข้า
ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.50% แตะที่ระดับ 109.090
ดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 158.46 เยน จากระดับ 157.78 เยนในวันอังคาร (7 ม.ค.), แข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9117 ฟรังก์ จากระดับ 0.9086 ฟรังก์ และแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.4389 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.4347 ดอลลาร์แคนาดา
ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.0309 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0355 ดอลลาร์ในวันอังคาร ส่วนเงินปอนด์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.2357 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2490 ดอลลาร์
สำนักข่าว CNN รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวระบุว่า ทรัมป์มีแผนที่จะประกาศภาวะฉุกเฉินทางเศรษฐกิจแห่งชาติ เพื่อให้เขามีอำนาจในการใช้นโยบายตั้งกำแพงภาษีนำเข้าตามที่ได้สัญญาไว้ในช่วงการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง
แหล่งข่าวระบุว่า หลังการสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐในวันที่ 20 ม.ค. ทรัมป์อาจใช้คำสั่งประธานาธิบดีตามกฎหมายอำนาจฉุกเฉินทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (International Economic Emergency Powers Act) หรือ IEEPA เพื่อประกาศใช้นโยบายตั้งกำแพงภาษี โดย IEEPA จะให้อำนาจประธานาธิบดีในการควบคุมการนำเข้าสินค้าในยามที่สหรัฐฯ ประสบวิกฤตการณ์
อย่างไรก็ดี แหล่งข่าวเปิดเผยว่า ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าทรัมป์จะประกาศภาวะฉุกเฉินแห่งชาติหรือไม่ ขณะที่คณะทำงานของทรัมป์กำลังพิจารณาทางเลือกอื่น เช่น การใช้บางมาตราของกฎหมายการค้าของสหรัฐฯ
ทั้งนี้ ในช่วงการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ทรัมป์ขู่ว่าจะมีการจัดเก็บภาษีต่อสินค้านำเข้าของจีนสูงถึง 60% นอกจากนี้ ในช่วงไม่กี่สัปดาห์หลังจากที่ชนะการเลือกตั้ง ทรัมป์ประกาศว่าจะเรียกเก็บภาษีต่อสินค้านำเข้าจากจีนอีก 10% และเพิ่มภาษีต่อสินค้านำเข้าจากแคนาดาและเม็กซิโกอีก 25%
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนนี้ ออโตเมติก ดาต้า โพรเซสซิ่ง อิงค์ (ADP) ระบุว่า การจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเพียง 122,000 ตำแหน่งในเดือนธ.ค. 2567 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนส.ค. 2567 และต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 136,000 ตำแหน่ง หลังจากเพิ่มขึ้น 146,000 ตำแหน่งในเดือนพ.ย.
ทางด้านกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เปิดเผยว่าตัวเลขผู้ยื่นขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรก ลดลง 10,000 ราย สู่ระดับ 201,000 รายในสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 4 ม.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนก.พ. 2567
นักลงทุนจับตาการเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ ในวันศุกร์นี้อย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินแนวโน้มตลาดแรงงานและทิศทางอัตราดอกเบี้ยของเฟด ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรจะเพิ่มขึ้นเพียง 154,000 ตำแหน่งในเดือนธ.ค. หลังจากเพิ่มขึ้น 227,000 ตำแหน่งในเดือนพ.ย. และคาดว่าอัตราว่างงานจะทรงตัวที่ระดับ 4.2%