ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันจันทร์ (13 ม.ค.) โดยดอลลาร์ยังคงได้รับแรงหนุนจากการเปิดเผยข้อมูลการจ้างงานของสหรัฐฯ ที่แข็งแกร่งเกินคาดในเดือนธ.ค. ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนการคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) อาจจะชะลอการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้
ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.28% แตะที่ระดับ 109.955
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9191 ฟรังก์ จากระดับ 0.9172 ฟรังก์ในวันศุกร์ (10 ม.ค.) แต่ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 157.81 เยน จากระดับ 157.88 เยน และอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.4412 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.4427 ดอลลาร์แคนาดา
ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.0208 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0245 ดอลลาร์ในวันศุกร์ ส่วนเงินปอนด์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.2167 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2210 ดอลลาร์
กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เปิดเผยเมื่อวันศุกร์ (10 ม.ค.) ว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 256,000 ตำแหน่งในเดือนธ.ค. สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 154,000 ตำแหน่ง หลังจากเพิ่มขึ้น 212,000 ตำแหน่งในเดือนพ.ย.
ส่วนอัตราการว่างงานปรับตัวลงสู่ระดับ 4.1% ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 4.2%
ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 97.3% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 4.25-4.50% ในการประชุมวันที่ 28-29 ม.ค.
นอกจากนี้ นักลงทุนคาดว่าเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมี.ค.,พ.ค.,มิ.ย.และก.ค. ก่อนที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 4.00-4.25% ในการประชุมเดือนก.ย. และคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับดังกล่าวในการประชุมที่เหลือจนสิ้นปี 2568
นักลงทุนจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ประจำเดือนธ.ค.ของสหรัฐฯ ในวันพรุ่งนี้ (15 ม.ค.) เพื่อหาสัญญาณที่ชัดเจนเกี่ยวกับแนวโน้มเงินเฟ้อและทิศทางอัตราดอกเบี้ยของเฟด
นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ดัชนี CPI จะปรับตัวขึ้น 2.9% ในเดือนธ.ค. หลังจากที่เพิ่มขึ้น 2.7% ในเดือนพ.ย. และคาดว่าดัชนี CPI พื้นฐาน (Core CPI) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน จะเพิ่มขึ้น 3.3% ในเดือนธ.ค. เมื่อเทียบรายปี ไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือนพ.ย.