ดอลลาร์สหรัฐแทบไม่ขยับเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันอังคาร (21 ม.ค.) ท่ามกลางการซื้อขายที่เป็นไปอย่างผันผวน เนื่องจากนักลงทุนมองว่ามาตรการภาษีศุลกากรของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ยังคงไม่แน่นอน
ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ขยับขึ้นเพียง 0.01% แตะที่ระดับ 108.060 หลังจากที่ร่วงลง 1.2% ในระหว่างวัน
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 155.56 เยน จากระดับ 155.63 เยนในวันศุกร์ (17 ม.ค.) แต่ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเล็กน้อยเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9066 ฟรังก์ จากระดับ 0.9064 ฟรังก์ และแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.4335 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.4307 ดอลลาร์แคนาดา
ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.0418 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0421 ดอลลาร์ ส่วนเงินปอนด์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.2328 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2337 ดอลลาร์
ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการบังคับใช้มาตรการภาษีศุลกากรของปธน.ทรัมป์ส่งผลให้การซื้อขายในตลาดปริวรรตเงินตราเป็นไปอย่างผันผวน โดยหลังเสร็จสิ้นพิธีสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อวันจันทร์ (20 ม.ค.) ปธน.ทรัมป์ไม่ได้ประกาศใช้มาตรการภาษีศุลกากรแบบครอบจักรวาล หรือ Universal Tariffs ซึ่งเป็นมาตรการที่จะส่งผลกระทบต่อสินค้าทุกรายการที่มีการนำเข้าสู่สหรัฐฯ แต่เขาส่งสัญญาณว่าอาจจะเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากแคนาดาและเม็กซิโกตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.
นักลงทุนจับตาการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ในวันที่ 28-29 ม.ค. โดยแม้ว่าเฟดมีแนวโน้มที่จะคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมวันดังกล่าว แต่คาดว่าแถลงการณ์ของเฟดในการประชุมครั้งนี้จะสามารถบ่งชี้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยในปี 2568
นอกจากนี้ นักลงทุนยังจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ของสหรัฐฯ ในสัปดาห์หน้า โดยดัชนี PCE เป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ เนื่องจากสามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)