ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันจันทร์ (3 ก.พ.) ขานรับข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของสหรัฐฯ ซึ่งรวมถึงดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตที่พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบเกือบ 1 ปี ขณะที่นักลงทุนจับตาข้อมูลแรงงานของสหรัฐฯ ในสัปดาห์นี้ รวมถึงตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรประจำเดือนม.ค.
ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.58% แตะที่ระดับ 108.994
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 154.90 เยน จากระดับ 154.79 เยนในวันศุกร์ (31 ม.ค.), แข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9129 ฟรังก์ จากระดับ 0.9111 ฟรังก์ และแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.4574 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.4572 ดอลลาร์แคนาดา
ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.0285 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0313 ดอลลาร์ ส่วนเงินปอนด์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.2395 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2408 ดอลลาร์
สหรัฐฯ เปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งเมื่อคืนนี้ โดยสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐฯ (ISM) เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 50.9 ในเดือนม.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนก.ย.2565 และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 49.8 จากระดับ 49.2 ในเดือนธ.ค. โดยดัชนีปรับตัวสูงกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้การขยายตัวของภาคการผลิตสหรัฐ โดยเป็นการขยายตัวครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนต.ค.2565
เอสแอนด์พี โกลบอลเปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 51.2 ในเดือนม.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมี.ค.2567 จากระดับ 49.4 ในเดือนธ.ค. โดยได้แรงหนุนจากการเพิ่มขึ้นของการจ้างงานและคำสั่งซื้อใหม่ ขณะที่ความเชื่อมั่นในภาคธุรกิจพุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบ 34 เดือน ท่ามกลางความคาดหวังว่าประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะออกมาตรการที่เอื้อต่อภาคธุรกิจ
ทางด้านกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เปิดเผยว่า การใช้จ่ายด้านการก่อสร้างเพิ่มขึ้น 0.5% ในเดือนธ.ค. เมื่อเทียบรายเดือน โดยสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าเพิ่มขึ้น 0.2% หลังจากเพิ่มขึ้น 0.2% ในเดือนพ.ย.
นักลงทุนจับตาการเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรประจำเดือนม.ค.ของสหรัฐฯ ในวันศุกร์ที่ 7 ก.พ.นี้ ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ตัวเลขจ้างงานจะเพิ่มขึ้นเพียง 154,000 ตำแหน่งในเดือนม.ค. หลังจากเพิ่มขึ้น 256,000 ตำแหน่งในเดือนธ.ค. และคาดว่าอัตราว่างงานทรงตัวที่ระดับ 4.1% ในเดือนม.ค.