ดอลลาร์แข็งค่าเทียบสกุลเงินหลัก หลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ขู่ทำสงครามการค้ารอบใหม่
ณ เวลา 20.41 น.ตามเวลาไทย ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน บวก 0.17% สู่ระดับ 108.22 ขณะที่ดอลลาร์ปรับตัวขึ้น 0.05% สู่ระดับ 1.032 เทียบยูโร และดีดตัว 0.34% สู่ระดับ 151.91 เยน
ปธน.ทรัมป์เปิดเผยวานนี้ว่า เขาจะประกาศเรียกเก็บภาษีนำเข้าเหล็กและอลูมิเนียมในอัตรา 25% จากทุกประเทศในวันนี้ ซึ่งข่าวดังกล่าวส่งผลให้สหภาพยุโรป (EU) เตรียมดำเนินมาตรการตอบโต้สหรัฐ
ขณะเดียวกัน ตลาดจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) และดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ของสหรัฐในสัปดาห์นี้ รวมทั้งการกล่าวแถลงการณ์รอบครึ่งปีว่าด้วยนโยบายการเงินและภาวะเศรษฐกิจสหรัฐของนายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ต่อสภาคองเกรส
ทั้งนี้ นายพาวเวลมีกำหนดกล่าวถ้อยแถลงต่อคณะกรรมาธิการการธนาคารประจำวุฒิสภาในวันที่ 11 ก.พ. ก่อนที่จะกล่าวต่อคณะกรรมาธิการบริการการเงินประจำสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 12 ก.พ. โดยการกล่าวแถลงการณ์ทั้ง 2 วันจะมีขึ้นในเวลา 10.00 น.ตามเวลาสหรัฐ หรือ 22.00 น.ตามเวลาไทย
นักลงทุนพากันเลื่อนคาดการณ์ต่อการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกของเฟดในปีนี้ออกไปเป็นเดือนก.ค. และจะเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพียงครั้งเดียวของเฟดในปีนี้ หลังการเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร และตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อของผู้บริโภคในวันศุกร์
ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 91.5% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 4.25-4.50% ในการประชุมเดือนมี.ค.
นอกจากนี้ นักลงทุนคาดว่าเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนพ.ค.และมิ.ย. ก่อนที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 4.00-4.25% ในการประชุมเดือนก.ค. และคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับดังกล่าวในการประชุมที่เหลือจนสิ้นปี 2568
ทั้งนี้ เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา สหรัฐเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นน้อยกว่าคาด แต่อัตราการว่างงานปรับตัวต่ำกว่าคาด ขณะที่ตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงสูงกว่าคาด ซึ่งบ่งชี้การดีดตัวของเงินเฟ้อ และจะเป็นปัจจัยชะลอการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟด
ส่วนผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า ผู้บริโภคคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะพุ่งขึ้น 4.3% ในช่วง 1 ปีข้างหน้า สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 3.3% และเพิ่มขึ้นจากตัวเลขคาดการณ์ในเดือนม.ค.ที่ระดับ 3.3%
นอกจากนี้ ผู้บริโภคคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้น 3.3% ในช่วง 5 ปีข้างหน้า สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 3.2% และเพิ่มขึ้นจากตัวเลขคาดการณ์ในเดือนม.ค.ที่ระดับ 3.2%
กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นเพียง 143,000 ตำแหน่งในเดือนม.ค. ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 169,000 ตำแหน่ง หลังจากเพิ่มขึ้น 307,000 ตำแหน่งในเดือนธ.ค.
อย่างไรก็ดี อัตราการว่างงานปรับตัวลงสู่ระดับ 4.0% ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 4.1%
นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐได้ปรับตัวเลขการจ้างงานในเดือนธ.ค.เป็นเพิ่มขึ้น 307,000 ตำแหน่ง จากเดิมรายงานว่าเพิ่มขึ้น 256,000 ตำแหน่ง
ขณะเดียวกัน ตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงาน เพิ่มขึ้น 4.1% ในเดือนม.ค. เมื่อเทียบรายปี สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 3.8%
เมื่อเทียบรายเดือน ค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงาน เพิ่มขึ้น 0.5% สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 0.3%
ทั้งนี้ ตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงนับเป็นข้อมูลที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญเพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ภาวะเงินเฟ้อ