ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันศุกร์ (21 ก.พ.) ขณะที่นักลงทุนปรับสถานะการลงทุนก่อนวันหยุดสุดสัปดาห์ และรอดูข้อมูลเงินเฟ้อเพิ่มเติมในสัปดาห์หน้า รวมถึงข่าวเกี่ยวกับนโยบายภาษีของสหรัฐฯ
ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.22% แตะที่ระดับ 106.612
ดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับยูโร, ปอนด์ และดอลลาร์แคนาดา แต่อ่อนค่าลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเยนและฟรังก์สวิส
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงแตะ 149.08 เยนในวันศุกร์ (21 ก.พ.) จาก 149.78 เยนในวันพฤหัสบดี (20 ก.พ.), ดอลลาร์อ่อนค่าลงแตะ 0.8973 ฟรังก์สวิส จาก 0.8977 ฟรังก์สวิส และดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นแตะ 1.4231 ดอลลาร์แคนาดา จาก 1.4174 ดอลลาร์แคนาดา
ยูโรอ่อนค่าลงแตะ 1.0462 ดอลลาร์สหรัฐในวันศุกร์ จาก 1.0501 ดอลลาร์สหรัฐในวันพฤหัสบดี และเงินปอนด์ของอังกฤษอ่อนค่าลงแตะ 1.2630 ดอลลาร์สหรัฐ จาก 1.2670 ดอลลาร์สหรัฐ
คาร์ล ชาม็อตตา หัวหน้านักกลยุทธ์ตลาดจาก Corpay ในโทรอนโตกล่าวว่า "ดอลลาร์ฟื้นตัวทางเทคนิค หลังจากถูกเทขายอย่างหนักในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา นอกจากนี้ ความกังวลเรื่องการค้าเริ่มกลับมา ส่งผลให้สกุลเงินอื่น ๆ เผชิญกับแรงกดดัน"
อย่างไรก็ตาม ดอลลาร์ลดช่วงบวกลง หลังจากมีรายงานว่า กิจกรรมทางธุรกิจในสหรัฐฯ ลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 17 เดือน และดอลลาร์อ่อนค่าลงอีกครั้งหลังจากข้อมูลความเชื่อมั่นผู้บริโภคและยอดขายบ้านมือสองในสหรัฐฯ ออกมาต่ำกว่าคาด
ข้อมูลจาก LSEG บ่งชี้ว่า สัญญาอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ บ่งชี้ว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) อาจลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.44% ในปีนี้ เมื่อเทียบกับ 0.38% ที่บ่งชี้ในวันพฤหัสบดี
แม้เฟดยังไม่มีแนวโน้มลดดอกเบี้ยในอีกหลายเดือนข้างหน้า แต่ตลาดยังคงคาดการณ์ว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยในเดือนก.ย.หรือต.ค.
นักลงทุนจับตาการเปิดเผยดัชนีค่าใช้จ่ายด้านการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ซึ่งเป็นตัวชี้วัดเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ ซึ่งจะประกาศในสัปดาห์หน้า เพื่อติดตามแนวโน้มการดำเนินนโยบายของเฟด
ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐในวันศุกร์ โดยเป็นการร่วงลงรายวันมากที่สุดตั้งแต่ต้นเดือนก.พ. เนื่องจากตัวเลขกิจกรรมทางธุรกิจในฝรั่งเศสหดตัวลงอย่างหนัก ขณะที่ในเยอรมนีฟื้นตัวเพียงเล็กน้อย
นักลงทุนยังจับตาผลการเลือกตั้งในเยอรมนีในวันอาทิตย์นี้ ซึ่งอาจส่งผลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจในอนาคต
ปอนด์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ แม้ก่อนหน้านี้จะได้รับแรงหนุนจากยอดค้าปลีกที่เพิ่มขึ้นเกินคาด และดัชนีภาคธุรกิจของอังกฤษที่แสดงถึงการขยายตัว อย่างไรก็ตาม ตัวเลขการจ้างงานที่ลดลงกดดันค่าเงินปอนด์
ส่วนเงินเยนแข็งค่าต่อเนื่อง เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของญี่ปุ่นพุ่งขึ้นสูงสุดในรอบ 19 เดือน ส่งผลให้ตลาดคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) อาจขึ้นดอกเบี้ยอีก
อย่างไรก็ตาม คาซูโอะ อุเอดะ ผู้ว่าการ BOJ ออกมาให้ความเห็นว่า BOJ จะยังคงควบคุมอัตราดอกเบี้ยระยะยาวผ่านการซื้อพันธบัตรรัฐบาล
ดัชนีดอลลาร์ปรับตัวขึ้นในวันศุกร์ แต่ลดลง 1.7% แล้วในเดือนก.พ. ซึ่งอาจเป็นการลดลงรายเดือนที่มากที่สุดนับตั้งแต่เดือนส.ค. 2567
ในด้านการค้านั้น ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ประกาศแผนขึ้นภาษีนำเข้าไม้แปรรูป และยังกล่าวว่าสหรัฐฯ อาจบรรลุข้อตกลงการค้าฉบับใหม่กับจีน
ชาม็อตตา จาก Corpay กล่าวว่า "หากทรัมป์ใช้ภาษีเป็นเครื่องมือเพื่อแก้ปัญหางบประมาณของสหรัฐฯ ประเทศคู่ค้าอย่างแคนาดา เม็กซิโก และยุโรป อาจเผชิญกับภาษีนำเข้ารอบใหม่ ซึ่งจะกดดันค่าเงินของพวกเขา"