ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันอังคาร (4 มี.ค.) โดยดอลลาร์อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางความวิตกกังวลว่าสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และบรรดาประเทศคู่ค้าจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ
ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.94% แตะที่ระดับ 105.743 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนธ.ค. 2567
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 149.27 เยน จากระดับ 150.18 เยนในวันจันทร์ (3 มี.ค.) และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.8888 ฟรังก์ จากระดับ 0.8975 ฟรังก์ แต่ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.4503 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.4499 ดลอลาร์แคนาดา
ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.0597 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0473 ดอลลาร์ในวันจันทร์ ส่วนเงินปอนด์แข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.2787 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2688 ดอลลาร์
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ ประกาศเดินหน้าเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากแคนาดาและเม็กซิโกในอัตรา 25% และเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนเพิ่มขึ้นเป็น 20% มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันอังคารที่ 4 มี.ค. นอกจากนี้ ปธน.ทรัมป์ยืนยันจะเริ่มใช้มาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) กับทุกประเทศที่เก็บภาษีต่อสินค้านำเข้าจากสหรัฐตั้งแต่วันที่ 2 เม.ย.
การที่สหรัฐฯ ประกาศเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีน แคนาดา และเม็กซิโก ส่งผลให้ประเทศคู่ค้าทั้ง 3 ประเทศออกมาตรการตอบโต้ โดยแคนาดาประกาศเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ ในอัตรา 25% มีผลตั้งแต่วันอังคารที่ 4 มี.ค. และจีนประกาศเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ บางรายการเพิ่มอีก 10% - 15% โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 10 มี.ค. ส่วนเม็กซิโกยืนยันว่าจะใช้มาตรการภาษีตอบโต้สหรัฐฯ แต่ยังไม่เปิดเผยรายละเอียดในขณะนี้
ความวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากสงครามการค้า ได้ส่งผลให้ดัชนีดาวโจนส์ปิดร่วงลงกว่า 600 จุดติดต่อกันเป็นวันที่สอง ขณะที่ดัชนี Nasdaq ดิ่งลงสู่เขตปรับฐานในระหว่างวัน แต่ดัชนีจะลดช่วงลบก่อนตลาดปิดทำการ โดย Nasdaq ดิ่งลงไปแล้ว 9.3% จากระดับปิดสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ทำไว้ในวันที่ 16 ธ.ค. 2567
นักลงทุนจับตาตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ ในวันศุกร์นี้ ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ตัวเลขจ้างงานจะเพิ่มขึ้น 156,000 ตำแหน่งในเดือนก.พ. หลังจากเพิ่มขึ้น 143,000 ตำแหน่งในเดือนม.ค. และคาดว่าอัตราว่างงานจะทรงตัวที่ระดับ 4.0% ในเดือนก.พ.