สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันศุกร์ (28 มี.ค.) ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ก่อนที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์จะประกาศมาตรการภาษีตอบโต้ในสัปดาห์หน้า ขณะที่เงินเยนของญี่ปุ่นแข็งค่าขึ้นจากแรงซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย ท่ามกลางภาวะตลาดหุ้นที่ร่วงลงอย่างหนัก และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ลดลง
ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.28% แตะที่ระดับ 104.042
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงแตะ 149.96 เยนในวันศุกร์ (28 มี.ค.) จาก 151.11 เยนในวันพฤหัสบดี (27 มี.ค.), ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงแตะ 0.8819 ฟรังก์สวิส จาก 0.8824 ฟรังก์สวิส และดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงแตะ 1.4316 ดอลลาร์แคนาดา จาก 1.4320 ดอลลาร์แคนาดา
ยูโรแข็งค่าขึ้นแตะ 1.0825 ดอลลาร์สหรัฐ จาก 1.0791 ดอลลาร์สหรัฐ และปอนด์อ่อนค่าลงแตะ 1.2940 ดอลลาร์สหรัฐ จาก 1.2951 ดอลลาร์สหรัฐ
นักลงทุนยังคงคาดหวังว่ามาตรการภาษีอาจไม่รุนแรงอย่างที่กังวล แต่ก็ยังมีความเสี่ยงที่มาตรการดังกล่าวอาจกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและกระตุ้นให้เกิดเงินเฟ้อ ขณะที่ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับรายละเอียดของมาตรการภาษียิ่งทำให้ตลาดระมัดระวังมากขึ้น
ทรัมป์ประกาศเมื่อวันพุธ (26 มี.ค.) ว่าจะเรียกเก็บภาษีนำเข้า 25% สำหรับรถยนต์และรถบรรทุกขนาดเล็ก โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 3 เม.ย.
ข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐฯ บ่งชี้ว่า ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลพื้นฐาน (Core PCE) ในเดือนก.พ. เพิ่มขึ้น 0.4% สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 0.3% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Headline PCE) ปรับตัวขึ้น 0.3% ตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้
การใช้จ่ายของผู้บริโภคในสหรัฐฯ ฟื้นตัวในเดือนก.พ. ขณะที่ผลสำรวจจากมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า การคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในช่วง 12 เดือนข้างหน้าเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 2 ปีครึ่งในเดือนมี.ค.
ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจของยุโรปในวันศุกร์บ่งชี้ว่า อัตราเงินเฟ้อของฝรั่งเศสและสเปนในเดือนมี.ค.ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ ขณะที่การคาดการณ์ของผู้บริโภคเกี่ยวกับราคายังคงอยู่ในระดับต่ำ ทำให้ตลาดเชื่อว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) อาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีกครั้ง
นอกจากนี้ การใช้จ่ายของผู้บริโภคฝรั่งเศสลดลง, อัตราการว่างงานในเยอรมนีเพิ่มขึ้นเกินคาด และความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจและผู้บริโภคในอิตาลีลดลงในเดือนมี.ค.
เงินปอนด์อ่อนค่าลง แม้มีรายงานว่า ผู้บริโภคอังกฤษใช้จ่ายมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ในเดือนก.พ. สวนทางกับที่นักวิเคราะห์มองว่ายอดค้าปลีกอาจลดลงจากภาวะเศรษฐกิจโดยรวมที่ยังคงซบเซา