สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันอังคาร (8 เม.ย.) ขณะที่นักลงทุนยังคงมีความวิตกกังวลว่ามาตรการภาษีศุลกากรของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ จะส่งผลให้เกิดสงครามการค้าและทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย
ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.3% แตะระดับ 102.955
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 146.39 เยน จากระดับ 148.03 เยนในวันจันทร์ (7 เม.ย.) และอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.8480 ฟรังก์ จากระดับ 0.8572 ฟรังก์ แต่ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.4238 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.4200 ดอลลาร์แคนาดา
ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.0951 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0928 ดอลลาร์ในวันจันทร์ ส่วนเงินปอนด์แข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.2790 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2755 ดอลลาร์
แคโรไลน์ เลวิตต์ โฆษกทำเนียบขาวกล่าวว่า ปธน.ทรัมป์จะบังคับใช้มาตรการภาษีศุลกากรตามกำหนด ซึ่งถือเป็นการดับความหวังของนักลงทุนที่ต่างก็คาดหวังว่าปธน.ทรัมป์อาจจะเลื่อนหรือผ่อนปรนการเรียกเก็บภาษี ก่อนที่มาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariff) จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 9 เม.ย.
นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวยืนยันว่า สหรัฐฯ จะเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนในอัตรา 104% ในวันพุธที่ 9 เม.ย. เวลา 00.01 น.ตามเวลาสหรัฐฯ หรือตรงกับเวลา 11.01 น.ตามเวลาไทย โดยก่อนหน้านี้ปธน.ทรัมป์ให้เวลารัฐบาลจีนจนถึงวันอังคารที่ 8 เม.ย.ในการยกเลิกมาตรการเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ ในอัตรา 34% มิฉะนั้นจีนจะถูกสหรัฐฯ เรียกเก็บภาษีเพิ่มเติมอีก 50% ซึ่งจะทำให้จีนถูกเรียกเก็บภาษีรวมสูงถึง 104%
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจที่มีการรายงานเมื่อคืนนี้ สหพันธ์ธุรกิจอิสระแห่งชาติสหรัฐฯ (NFIB) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของธุรกิจขนาดย่อมร่วงลง 3.3 จุด สู่ระดับ 97.4 ในเดือนมี.ค. โดยเป็นการปรับตัวลงติดต่อกัน 3 เดือน และเป็นการดิ่งลงมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนมิ.ย.2565
นักลงทุนจับตารายงานการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ในวันพุธ (9 เม.ย.) เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ทิศทางอัตราดอกเบี้ย รวมทั้งจับตาข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐฯ ในสัปดาห์นี้ ซึ่งรวมถึงดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนมี.ค., ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนมี.ค., ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคขั้นต้นเดือนเม.ย.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์