สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันอังคาร (22 เม.ย.) โดยได้ปัจจัยหนุนจากการที่นักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้า หลังจากรัฐมนตรีคลังของสหรัฐฯ ได้แสดงความเชื่อมั่นว่าความขัดแย้งด้านการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนจะคลี่คลายลงในไม่ช้า
ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.56% แตะที่ระดับ 98.918
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 141.50 เยน จากระดับ 140.83 เยนในวันจันทร์ (21 เม.ย.) และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.8189 ฟรังก์ จากระดับ 0.8070 ฟรังก์ แต่ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3815 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3818 ดอลลาร์แคนาดา
ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1426 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1507 ดอลลาร์ ส่วนเงินปอนด์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ระดับ 1.3336 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3381 ดอลลาร์
สก็อตต์ เบสเซนต์ รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ กล่าวในการประชุมนักลงทุนซึ่งธนาคารเจพีมอร์แกนจัดขึ้นที่กรุงวอชิงตันเมื่อวานนี้ว่า เขาคาดว่าความขัดแย้งด้านการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนจะคลี่คลายลงในไม่ช้า และเขาเชื่อว่าเมื่อสถานการณ์ดังกล่าวคลี่คลายลงก็จะช่วยผ่อนคลายความวิตกกังวลให้กับตลาดทั่วโลก
เบสเซนต์ยืนยันว่า แม้สหรัฐฯ จะเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนขึ้นเป็น 145% และจีนจะตอบโต้ด้วยการเก็บภาษีสินค้าจากสหรัฐฯ ที่ระดับ 125% แต่เป้าหมายนโยบายของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ไม่ใช่การแบ่งแยกเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และจีนออกจากกัน นอกจากนี้ เขากล่าวว่า แม้การเจรจากับจีนมีแนวโน้มว่าจะยืดเยื้อ แต่ทั้งจีนและสหรัฐฯ ต่างก็ไม่คิดว่าจะปล่อยให้สถานการณ์เช่นนี้ดำเนินต่อไปโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง
การแสดงความเห็นดังกล่าวของรัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ ทำให้นักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ และยังช่วยบดบังปัจจัยลบจากการที่ปธน.ทรัมป์ขู่ว่าจะปลดเจอโรม พาวเวล ออกจากตำแหน่งประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) หากพาวเวลไม่เร่งปรับลดอัตราดอกเบี้ย ซึ่งท่าทีดังกล่าวทำให้นักลงทุนกังวลว่าความเป็นอิสระในการดำเนินนโยบายการเงินของเฟดจะได้รับผลกระทบ
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจที่มีการรายงานเมื่อคืนนี้ ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) สาขาริชมอนด์ เปิดเผยว่า ดัชนีภาคการผลิตปรับตัวลงสู่ระดับ -13 ในเดือนเม.ย. ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ -6 จากระดับ -4 ในเดือนมี.ค.
ทั้งนี้ ดัชนียังคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 0 ซึ่งบ่งชี้ว่าภาคการผลิตในเขตริชมอนด์ยังคงอยู่ในภาวะหดตัว