นายมาร์ค รุท นายกรัฐมนตรีเนเธอร์แลนด์ กล่าวว่า จะถือเป็นเรื่องแปลกสำหรับกรีซที่จะยุติการปฏิรูปทุกอย่างที่ได้ดำเนินการในขณะนี้ หลังจากใช้มาตรการรัดเข็มขัดมาเป็นเวลา 4-5 ปี และสุดท้ายกลับตัดสินใจออกจากยูโรโซน
ทั้งนี้ ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลกรีซประเภทอายุ 10 ปีร่วงลง 0.65% สู่ระดับ 9.53% ในวันนี้ หลังจากดีดตัวสู่ระดับ 11% ในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่กลางเดือนต.ค.ปีที่แล้ว ขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลกรีซประเภทอายุ 3 ปีดิ่งลงเกือบ 1.6% ต่ำกว่าระดับ 12%
ผลการสำรวจความคิดเห็นล่าสุดซึ่งจัดทำโดยวีมา ทรีบูน ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ชั้นนำของกรีซ ระบุว่า พรรคไซรีซา ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านและต่อต้านมาตรการรัดเข็มขัด ยังคงมีคะแนนนำเหนือพรรคนิวเดโมเครซี (ND) ซึ่งเป็นพรรครัฐบาล ก่อนที่การเลือกตั้งทั่วประเทศของกรีซจะมีขึ้นในวันที่ 25 ม.ค.นี้ ทั้งนี้ ผลการสำรวจระบุว่า พรรคไซรีซามีคะแนน 28.1% เหนือกว่าพรรค ND ซึ่งได้ไปเพียง 25.5% สถานการณ์ที่ไม่แน่นอนทางการเมืองของกรีซยังคงเป็นที่จับตาของนักลงทุนในตลาดการเงิน เนื่องจากการเลือกตั้งในวันที่ 25 ม.ค.นี้ ถือเป็นการชี้ชะตาว่ากรีซจะสามารถรักษาสถานภาพการเป็นสมาชิกยูโรโซนต่อไปได้หรือไม่ ขณะที่ผลการสำรวจจากหลายสำนัก รวมถึงสถานีโทรทัศน์เมก้า, หนังสือพิมพ์พอนทิกิ, เมตรอน อนาไลซิส และวีมา ทรีบูน ต่างก็ระบุไปในทิศทางเดียวกันว่า พรรคไซรีซามีคะแนนนำเหนือพรรครัฐบาลของนายอันโตนิโอ ซามาราส
ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองมองว่า หากพรรคไซรีซาได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง ก็อาจจะทำให้หัวหน้าพรรคคือนายอเล็กซิส ซิปราส เดินหน้าคัดค้านการใช้มาตรการรัดเข็มขัด ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่ได้รับการสนับสนุนจากเยอรมนีเพื่อแลกกับการให้ความช่วยเหลือกรีซ ซึ่งความแข็งกร้าวของนายซิปราสอาจจะส่งผลให้กรีซเผชิญกับการผิดนัดชำระหนี้ และอาจทำให้กรีซต้องพ้นจากการเป็นสมาชิกยูโรโซนในที่สุด
นายปีเตอร์ โบฟิงเกอร์ สมาชิกคณะที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลเยอรมนี เตือนว่า หากกรีซพ้นจากสถานะประเทศสมาชิกยูโรโซนก็เท่ากับเป็นการบั่นทอนไร้เสถียรภาพของยูโรโซน เพราะถึงแม้ว่าจะไม่มีผลกระทบกับประเทศอื่นๆ แต่การควบคุมผลกระทบที่ตามมานั้น จะเป็นไปอย่างยากลำบากมาก
นายอีแวนเจลอส เวนิเซลอส ผู้นำพรรค Pasok ซึ่งเป็นพรรคสังคมนิยมของกรีซเปิดเผยว่า การเลือกตั้งในวันที่ 25 ม.ค.ที่จะถึงนี้ ถือเป็นการเดิมพันอนาคตของประเทศว่ากรีซจะสามารถหลุดพ้นจากวิกฤตหนี้สินที่ดำเนินมาเป็นระยะเวลา 5 ปีและกลับสู่ภาวะปกติ หรือจะถอยกลับไปสู่ความไม่แน่นอนมากยิ่งขึ้น
กรีซรอดพ้นจากภาวะล้มละลายเนื่องจากได้รับการช่วยเหลือจากสหภาพยุโรป (อียู) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ภายใต้โครงการช่วยเหลือทางการเงินที่จะสิ้นสุดลงในปลายเดือนก.พ.ปีนี้