นอกจากนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐยังถูกกดดันจากการที่นักลงทุนหันมาซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ท่ามกลางการทรุดตัวของตลาดหุ้นทั่วโลก
ณ เวลา 19.31 น.ตามเวลาไทย อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี ปรับตัวลงสู่ระดับ 3.157% ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 30 ปี อ่อนตัวลงสู่ระดับ 3.346%
ราคาพันธบัตร และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรจะปรับตัวในทิศทางตรงกันข้ามกัน
กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนี CPI ปรับตัวขึ้นเพียง 0.1% ในเดือนก.ย. เมื่อเทียบรายเดือน โดยต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 0.2% หลังจากเพิ่มขึ้น 0.2% ในเดือนส.ค.
การเพิ่มขึ้นน้อยกว่าคาดของดัชนี CPI มีสาเหตุจากการชะลอตัวของราคาค่าเช่า และพลังงาน
เมื่อเทียบรายปี ดัชนี CPI เพิ่มขึ้น 2.3% ในเดือนก.ย. หลังจากพุ่งขึ้น 2.7% ในเดือนส.ค.
หากไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ดัชนี CPI พื้นฐานขยับขึ้น 0.1% เมื่อเทียบรายเดือน โดยต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 0.2% หลังจากเพิ่มขึ้น 0.1% ในเดือนส.ค.
เมื่อเทียบรายปี ดัชนี CPI พื้นฐานปรับตัวขึ้น 2.2% หลังจากเพิ่มขึ้น 2.2% เช่นกันในเดือนส.ค.
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐดีดตัวขึ้นเมื่อวานนี้ โดยได้แรงหนุนจากการเปิดเผยตัวเลขดัชนีราคาผู้ผลิตสหรัฐ (PPI) ที่พุ่งขึ้น ซึ่งบ่งชี้ว่าเฟดอาจเร่งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 ปีทำสถิติแตะระดับสูงสุดในรอบ 10 ปี ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีสูงสุดในรอบ 7 ปี และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 30 ปีสูงสุดในรอบ 8 ปี
ทั้งนี้ พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีถือเป็นพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐที่ใช้อ้างอิงในการกำหนดราคาของตราสารหนี้ทั่วโลก รวมถึงอัตราดอกเบี้ยจำนองของสหรัฐ ซึ่งหากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวขึ้น จะทำให้ผู้บริโภคมีเงินสำหรับการใช้จ่ายลดน้อยลง ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการจ่ายเงินกู้จำนองเพิ่มมากขึ้น และบริษัทต่างๆจะเผชิญกับต้นทุนที่สูงขึ้นจากการชำระหนี้ จึงทำให้บริษัทเหล่านี้ลดการลงทุน และลดการจ่ายเงินปันผลแก่นักลงทุน
กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยวานนี้ว่า ดัชนี PPI พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหาร, พลังงาน และภาคบริการ พุ่งขึ้น 0.4% ในเดือนก.ย. เมื่อเทียบรายเดือน ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนม.ค. หลังจากขยับขึ้น 0.1% ในเดือนส.ค.