อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีร่วงลงต่ำกว่า 2% ในวันนี้ หลังการเปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐที่ทรุดตัวลง
ณ เวลา 01.45 น.ตามเวลาไทย อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ร่วงลงสู่ระดับ 1.988% ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 30 ปี ปรับตัวลงสู่ระดับ 2.524%
ราคาพันธบัตร และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรจะปรับตัวในทิศทางตรงกันข้ามกัน
ผลสำรวจของ Conference Board ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐปรับตัวลงสู่ระดับ 121.5 ในเดือนมิ.ย. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนก.ย.2560 หลังจากดีดตัวขึ้น 3 เดือนติดต่อกัน และต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 131.1 จากระดับ 134.1 ในเดือนพ.ค.
การร่วงลงของดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐได้รับผลกระทบจากการทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน
นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นต่อสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันร่วงลงแตะ 162.6 จากระดับ 170.7 ในเดือนพ.ค. ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นในช่วง 6 เดือนข้างหน้าปรับตัวลงสู่ระดับ 94.1 จากระดับ 105.0
ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐเป็นการสำรวจมุมมองของผู้บริโภค และความเชื่อมั่นต่อสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน และในช่วง 6 เดือนข้างหน้า, สถานะการเงินส่วนบุคคล และการจ้างงาน
นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ไม่ได้ส่งสัญญาณลดอัตราดอกเบี้ยในการกล่าวสุนทรพจน์ในวันนี้
นายพาวเวลกล่าวเน้นย้ำถึงการมีอิสรภาพของเฟด ในการกล่าวสุนทรพจน์ในวันนี้ต่อสภาวิเทศสัมพันธ์ที่กรุงนิวยอร์ก
นายพาวเวลยังกล่าวว่า เฟดกำลังประเมินว่าความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจในปัจจุบันเป็นปัจจัยสนับสนุนการปรับลดอัตราดอกเบี้ยหรือไม่ และเฟดกำลังใช้ท่าทีรอคอยและจับตาดูสถานการณ์ ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทางเศรษฐกิจในระยะนี้
นายพาวเวลกล่าวเสริมว่า เฟดเชื่อว่าอัตราเงินเฟ้อจะกลับสู่ระดับ 2% ซึ่งเป็นเป้าหมายของเฟด แม้ว่าในอัตราที่ช้ากว่าที่คาดไว้
"นับตั้งแต่ต้นปีนี้ เราได้ใช้จุดยืนในการมีความอดทนต่อการประเมินความจำเป็นเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงิน และขณะนี้เราขอกล่าวว่า คณะกรรมการเฟดจะจับตาอย่างใกล้ชิดต่อสิ่งบ่งชี้ในข้อมูลเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจ และจะดำเนินการอย่างเหมาะสมเพื่อรักษาการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ท่ามกลางตลาดแรงงานที่แข็งแกร่ง และอัตราเงินเฟ้ออยู่ใกล้ระดับ 2% ซึ่งเป็นเป้าหมายของเฟด" นายพาวเวลกล่าว
นายพาวเวลยืนยันว่า การเมืองจะไม่ถูกนำมาเป็นปัจจัยหนึ่งในการพิจารณานโยบายการเงิน
"เฟดได้รับการคุ้มกันต่อแรงกดดันทางการเมืองในระยะสั้น ซึ่งเราเรียกกันว่า เป็น"อิสรภาพ"ของเรา โดยสภาคองเกรสเลือกที่จะคุ้มครองเฟดเช่นนี้ เนื่องจากสภาได้มองเห็นความเสียหายที่มักจะเกิดขึ้นเมื่อมีการปรับนโยบายตามปัจจัยการเมืองระยะสั้น ขณะที่ธนาคารกลางในประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ทั่วโลกมีความเป็นอิสรภาพเช่นกัน" นายพาวเวลกล่าว
"สิ่งที่เราได้ยินก็คือ ภาวะตลาดแรงงานตึงตัวบ่งชี้ว่าประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้แผ่มาถึงประชาคมเหล่านี้แล้ว ในระดับที่เราไม่เคยเห็นเป็นเวลาหลายปี" นายพาวเวลกล่าว
การกล่าวสุนทรพจน์ของนายพาวเวลมีขึ้น หลังจากที่เฟดประกาศคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมสัปดาห์ที่แล้ว พร้อมกับส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงครึ่งปีหลัง ขณะที่นักลงทุนคาดการณ์ว่าเฟดมีแนวโน้ม 100% ที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนหน้า
นอกจากนี้ นายพาวเวลยังมีกำหนดกล่าวแถลงการณ์รอบครึ่งปีว่าด้วยนโยบายการเงินและภาวะเศรษฐกิจสหรัฐต่อสภาคองเกรสในเดือนหน้า
ทั้งนี้ นายพาวเวลจะกล่าวถ้อยแถลงต่อคณะกรรมาธิการบริการการเงินประจำสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 10 ก.ค. และต่อคณะกรรมาธิการการธนาคารประจำวุฒิสภาในวันที่ 11 ก.ค.
นักลงทุนจับตาถ้อยแถลงของนายพาวเวล เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ภาวะเศรษฐกิจ และอัตราเงินเฟ้อ รวมทั้งทิศทางอัตราดอกเบี้ยสหรัฐในปีนี้
ทางด้านนายเจมส์ บูลลาร์ด ประธานเฟด สาขาเซนต์หลุยส์ กล่าวว่า การที่เฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.50% จะเป็นการดำเนินการที่มากเกินไป
"ผมคิดว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.50% จะเป็นการดำเนินการที่มากเกินไป ซึ่งผมไม่คิดว่าสถานการณ์ในขณะนี้จะทำให้เฟดต้องลดอัตราดอกเบี้ยขนาดนี้ แต่ผมจะสนับสนุนให้เฟดลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% ซึ่งผมไม่ต้องการตัดสินล่วงหน้าก่อนการประชุม เนื่องจากสถานการณ์อาจเปลี่ยนแปลงไปได้เมื่อถึงเวลาการประชุม แต่ถ้าผมต้องเข้าประชุมวันนี้ นั่นจะเป็นสิ่งที่ผมจะทำ" นายบูลลาร์ดกล่าวต่อสถานีโทรทัศน์บลูมเบิร์ก