ตลาดพันธบัตรสหรัฐเกิดภาวะ inverted yield curve ในวันนี้ โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 ปี ดีดตัวขึ้นสูงกว่าพันธบัตรอายุ 10 ปี ซึ่งเป็นการบ่งชี้ถึงแนวโน้มการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย
ครั้งนี้นับเป็นการเกิด inverted yield curve เป็นครั้งที่ 3 ในรอบไม่ถึง 2 สัปดาห์ ขณะที่นักลงทุนวิตกว่า มาตรการของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยอาจช้าเกินไปที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐ หลังจากมีการเปิดเผยข้อมูลแสดงว่า ภาคการผลิตของสหรัฐอยู่ในภาวะหดตัวเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 10 ปี
ณ เวลา 21.20 น.ตามเวลาไทย อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 ปี ดีดตัวสู่ระดับ 1.60% ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ขยับขึ้นสู่ระดับ 1.598% ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 30 ปี ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 2.084%
ราคาพันธบัตร และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรจะปรับตัวในทิศทางตรงกันข้ามกัน
ไอเอชเอส มาร์กิต ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการข้อมูลทางการเงิน เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของสหรัฐร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 10 ปีในเดือนส.ค. ขณะที่สงครามการค้ากำลังส่งผลกระทบทำให้เศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัวลง
นอกจากนี้ ดัชนี PMI ภาคการผลิตปรับตัวลงต่ำกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ว่า ภาคการผลิตของสหรัฐอยู่ในภาวะหดตัว ซึ่งเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนก.ย.2552
มาร์กิตเปิดเผยว่า คำสั่งซื้อแตะระดับต่ำสุดในรอบ 10 ปี ขณะที่ยอดขายจากการส่งออกร่วงลงแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนส.ค.2552
นอกจากนี้ ผู้ผลิตยังคงลดจำนวนสินค้าในสต็อก ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มอุปสงค์ในอนาคต
นายทิม มัวร์ นักวิเคราะห์ของมาร์กิต ระบุว่า บริษัทในภาคการผลิตยังคงได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก และตัวเลขในเดือนส.ค.เป็นการส่งสัญญาณชัดเจนว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะชะลอตัวลงในไตรมาส 3
ทั้งนี้ ไอเอชเอส มาร์กิต เปิดเผยว่า ดัชนี PMI รวมภาคการผลิต และภาคบริการเบื้องต้นของสหรัฐ ปรับตัวลงสู่ระดับ 50.9 ในเดือนส.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 3 เดือน หลังจากแตะระดับ 52.6 ในเดือนก.ค.
การปรับตัวลงของดัชนี PMI ได้รับแรงกดดันจากการชะลอตัวของคำสั่งซื้อใหม่ ขณะที่การจ้างงานแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนก.พ.2553 ส่วนความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจร่วงลงเป็นเดือนที่ 7 แตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนก.ค.2555
ดัชนียังคงอยู่สูงกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ว่า ภาคธุรกิจของสหรัฐยังคงมีการขยายตัว ขณะที่การขยายตัวของภาคบริการ ช่วยชดเชยผลกระทบจากการหดตัวของภาคการผลิต
ส่วนดัชนี PMI ภาคการผลิตเบื้องต้น อยู่ที่ 49.9 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 119 เดือน จากระดับ 50.4 ในเดือนก.ค. โดยดัชนีอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ว่า ภาคการผลิตของสหรัฐอยู่ในภาวะหดตัว ซึ่งเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนก.ย.2552
สำหรับดัชนี PMI ภาคบริการเบื้องต้น อยู่ที่ 50.9 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 3 เดือน จากระดับ 53.0 ในเดือนก.ค. แต่ดัชนียังคงอยู่สูงกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ว่า ภาคบริการของสหรัฐยังคงมีการขยายตัว