เจพีมอร์แกน เชส ซึ่งเป็นธนาคารขนาดใหญ่ที่สุดของสหรัฐเมื่อพิจารณาจากมูลค่าสินทรัพย์ ได้สร้างดัชนี Volfefe Index เพื่อวิเคราะห์ผลกระทบต่ออัตราดอกเบี้ยสหรัฐจากการที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ส่งข้อความในทวิตเตอร์
เจพีมอร์แกนพบว่าดัชนีดังกล่าวสามารถอธิบายความเคลื่อนไหวของค่าความผันผวนของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 ปี และ 5 ปี
ทั้งนี้ นับตั้งแต่ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งในเดือนพ.ย.2559 ปธน.ทรัมป์ได้ทวีตข้อความเฉลี่ยมากกว่า 10 ข้อความต่อวัน ขณะที่เขามีผู้ติดตามในทวิตเตอร์เกือบ 64 ล้านคน
รายงานของเจพีมอร์แกนระบุว่า ปธน.ทรัมป์ทวีตข้อความมากที่สุดในช่วง 12.00-14.00 น.ตามเวลาสหรัฐ และยังมีการทวีตในเวลา 03.00 น. ขณะที่คาดว่าช่วงเวลานอนหลับพักผ่อนของปธน.ทรัมป์อยู่ในเวลา 05.00-10.00 น. เนื่องจากปธน.ทรัมป์แทบไม่มีการส่งข้อความในทวิตเตอร์ในช่วงเวลาดังกล่าว
ทางด้านแบงก์ ออฟ อเมริกา เมอร์ริล ลินช์ ออกรายงานระบุว่า วันใดก็ตามที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ขยันทวีตข้อความในทวิตเตอร์ วันนั้นตลาดหุ้นจะมีผลตอบแทนเป็นลบ
รายงานระบุว่า "นับตั้งแต่ปี 2559 วันใดก็ตามที่ปธน.ทรัมป์ทวีตมากกว่า 35 ข้อความ ตลาดหุ้นจะมีผลตอบแทนเป็นลบ แต่ในวันที่ปธน.ทรัมป์ทวีตน้อยกว่า 5 ข้อความ ผลตอบแทนจะเป็นบวก ซึ่งค่าทางสถิติถือว่ามีนัยสำคัญ"
"การเจรจาทางการค้า การรณรงค์ทางการเมือง และการทวีตของปธน.ทรัมป์ นับตั้งแต่เรื่องของจีน, นโยบายเฟด และนโยบายภาษี ได้ส่งผลให้ตลาดเกิดความผันผวน โดยการที่ปธน.ทรัมป์ประกาศเก็บภาษีครั้งใหม่ในเดือนที่แล้วได้สร้างความเสี่ยงต่อการคาดการณ์กำไรต่อหุ้นของเราในปีนี้ที่ระดับ +2%/+7% และส่งผลกระทบทางอ้อมอย่างมีนัยสำคัญต่อความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจและผู้บริโภค" รายงานระบุ
อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่าการทวีตของปธน.ทรัมป์เกี่ยวกับการทำสงครามการค้ากับจีน หรือเกี่ยวกับธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้น แต่ดัชนีดาวโจนส์ได้ทะยานขึ้น 42% นับตั้งแต่ที่ปธน.ทรัมป์ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีในเดือนพ.ย.2559 และพุ่งขึ้น 31% นับตั้งแต่เขาเข้ารับตำแหน่งในเดือนม.ค.2560