ตลาดพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐเกิดภาวะ inverted yield curve ในวันนี้ ซึ่งเป็นภาวะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นอยู่สูงกว่าพันธบัตรระยะยาว โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 3 เดือน อยู่สูงกว่าพันธบัตรอายุ 10 ปีในวันนี้ ซึ่งเป็นการบ่งชี้ถึงแนวโน้มการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย
ณ เวลา 00.03 น.ตามเวลาไทย อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ร่วงลงสู่ระดับ 1.560% สวนทางอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 3 เดือนซึ่งดีดตัวสู่ระดับ 1.567% ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 30 ปี ปรับตัวลงสู่ระดับ 2.030%
ราคาพันธบัตร และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรจะปรับตัวในทิศทางตรงกันข้ามกัน
ตลาดพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐเคยเกิดภาวะ inverted yield curve ในเดือนธ.ค.2548 โดยเกิดขึ้น 2 ปีก่อนที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยอันเนื่องจากวิกฤตการเงิน
ผลการสำรวจพบว่า หลังจากตลาดพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐเกิดภาวะ inverted yield curve โดยเฉลี่ยราว 22 เดือน สหรัฐก็จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยตามมา
นอกจากความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจจากสัญญาณในตลาดพันธบัตรแล้ว นักลงทุนยังวิตกว่าการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก
ข้อมูลจากประเทศต่างๆทั่วโลกล่าสุดระบุว่า จำนวนผู้ที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ทั่วโลกในขณะนี้มีจำนวนมากกว่าผู้ที่ติดเชื้อโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรงหรือ SARS ในปี 2545-46
ทั้งนี้ จำนวนผู้ที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ทั่วโลกในขณะนี้มีจำนวนมากกว่า 8,100 ราย ขณะที่ผู้ที่ติดเชื้อโรค SARS ในปี 2545-46 มีจำนวน 8,098 ราย
ผู้ที่เสียชีวิตจากโรค SARS ในช่วงเวลาดังกล่าวมีจำนวน 774 รายทั่วโลก และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกราว 3.3 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือ 0.1% ของตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของโลกในปี 2546
นักวิเคราะห์เตือนว่า เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกมากกว่า SARS เนื่องจากขณะนี้จีนมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ขึ้นมากกว่าในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโรค SARS ขณะที่มีการคาดการณ์ว่าเชื้อไวรัสโคโรนาจะฉุดเศรษฐกิจจีนลดลง 1% ในไตรมาสแรก