อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีชะลอตัวในวันนี้ หลังพุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 1 ปีเมื่อวันศุกร์
ณ เวลา 18.08 น.ตามเวลาไทย อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ร่วงลงสู่ระดับ 1.616% ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 30 ปี ปรับตัวลงสู่ระดับ 2.375%
ราคาพันธบัตร และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรจะปรับตัวในทิศทางตรงกันข้ามกัน
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีพุ่งขึ้นแตะ 1.642% เมื่อวันศุกร์ ทำสถิติสูงสุดนับตั้งแต่เดือนก.พ.2563 หลังจากที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดนได้ลงนามในร่างกฎหมายกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ พร้อมกับแถลงว่าเขาจะทำให้ชาวอเมริกันทุกคนที่มีอายุมากกว่า 18 ปีขึ้นไปได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ภายในวันที่ 1 พ.ค.
มีการคาดการณ์กันว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าวจะทำให้เงินเฟ้อเร่งตัวมากขึ้นจากการใช้จ่ายงบประมาณที่เพิ่มขึ้นของรัฐบาลสหรัฐ
นอกจากนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐยังดีดตัวขึ้นขานรับตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกที่ต่ำกว่าคาด รวมทั้งการที่สหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้ผลิต พุ่งสูงสุดในรอบกว่า 2 ปีในเดือนก.พ. เมื่อเทียบรายปี
ความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อที่สูงขึ้นได้เป็นปัจจัยผลักดันให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี พุ่งทะลุระดับ 1.6% แตะระดับสูงสุดในปีนี้เมื่อช่วงต้นเดือนมี.ค. หลังจากอยู่ต่ำกว่า 1% ในช่วงต้นปีนี้
ทั้งนี้ พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีถือเป็นพันธบัตรที่ใช้อ้างอิงในการกำหนดราคาของตราสารหนี้ทั่วโลก ซึ่งรวมถึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จำนอง และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้รถยนต์ของสหรัฐ ซึ่งหากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวขึ้น จะทำให้เม็ดเงินในการใช้จ่ายของผู้บริโภคลดน้อยลง ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้เพิ่มมากขึ้น และบริษัทต่างๆจะเผชิญกับต้นทุนที่สูงขึ้นจากการชำระหนี้ ซึ่งจะทำให้บริษัทเหล่านี้ลดการลงทุน และลดการจ่ายเงินปันผลแก่นักลงทุน
นักลงทุนจับตาการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันที่ 16-17 มี.ค.นี้ เพื่อดูท่าทีของเฟดเกี่ยวกับแนวโน้มการดีดตัวขึ้นของเงินเฟ้อที่เป็นผลจากการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐ รวมทั้งการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ