อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐปรับตัวลง ก่อนที่สหรัฐจะเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อในคืนนี้
ณ เวลา 19.20 น.ตามเวลาไทย อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ร่วงลงสู่ระดับ 1.617% ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 30 ปี ปรับตัวลงสู่ระดับ 2.333%
ราคาพันธบัตร และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรจะปรับตัวในทิศทางตรงกันข้ามกัน
ทั่วโลกจับตาตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐที่จะมีการประกาศในคืนนี้ โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐจะเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคประจำเดือนเม.ย.ในวันนี้ เวลา 19.30 น.ตามเวลาไทย
นักลงทุนคาดว่า หากตัวเลข CPI พุ่งขึ้นมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ ก็จะทำให้ดอลลาร์แข็งค่าขึ้น และหนุนให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐดีดตัวขึ้น รวมทั้งอาจส่งผลให้เฟดชะลอการผ่อนคลายนโยบายการเงิน โดยอาจลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการ QE เพื่อสกัดเงินเฟ้อ จากปัจจุบันที่เฟดทำ QE อย่างน้อย 1.2 แสนล้านดอลลาร์/เดือน
ก่อนหน้านี้ เฟดเคยส่งสัญญาณลดวงเงิน QE ในปี 2556 ซึ่งสร้างความตื่นตระหนกต่อนักลงทุน ส่งผลให้ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทและตลาดหุ้นทั่วโลกทรุดตัวลงอย่างหนักในปีดังกล่าว
ทั้งนี้ นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า กระทรวงแรงงานสหรัฐจะเปิดเผยว่าดัชนี CPI ปรับตัวขึ้น 0.2% ในเดือนเม.ย. เมื่อเทียบรายเดือน หลังจากเพิ่มขึ้น 0.6% ในเดือนมี.ค.
อย่างไรก็ดี เมื่อเทียบรายปี คาดว่าดัชนี CPI จะพุ่งขึ้น 3.6% ซึ่งเป็นการดีดตัวขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.ย.2554 หลังจากเพิ่มขึ้น 2.6% ในเดือนมี.ค.
นอกจากนี้ หากไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน คาดว่าดัชนี CPI พื้นฐานจะเพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือนเม.ย. เมื่อเทียบรายเดือน
เมื่อเทียบรายปี คาดว่าดัชนี CPI พื้นฐานดีดตัวขึ้น 2.3% ในเดือนเม.ย.
อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์มองว่า การพุ่งขึ้นของดัชนี CPI ประจำเดือนเม.ย.เมื่อเทียบรายปี มีสาเหตุจากการเปรียบเทียบกับตัวเลขฐานที่ต่ำผิดปกติในเดือนเม.ย.2563 ซึ่งขณะนั้นราคาสินค้าได้ทรุดตัวลงโดยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และจากการประกาศมาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด