อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐพลิกดีดตัวขึ้น ขานรับตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐที่พุ่งขึ้นเกินคาด ซึ่งอาจทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE)
ณ เวลา 20.04 น.ตามเวลาไทย อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี พุ่งขึ้นสู่ระดับ 1.654% ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 30 ปี ดีดตัวขึ้นสู่ระดับ 2.359% หลังจากปรับตัวลงในช่วงแรก
ราคาพันธบัตร และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรจะปรับตัวในทิศทางตรงกันข้ามกัน
ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค ประจำเดือนเม.ย.ในวันนี้ โดยระบุว่า ดัชนี CPI ดีดตัวขึ้น 0.8% ในเดือนเม.ย. เมื่อเทียบรายเดือน สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.2% หลังจากเพิ่มขึ้น 0.6% ในเดือนมี.ค.
เมื่อเทียบรายปี ดัชนี CPI พุ่งขึ้น 4.2% ซึ่งเป็นการดีดตัวขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.ย.2551 และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 3.6% หลังจากเพิ่มขึ้น 2.6% ในเดือนมี.ค.
นอกจากนี้ หากไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ดัชนี CPI พื้นฐานพุ่งขึ้น 0.9% ในเดือนเม.ย. เมื่อเทียบรายเดือน สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.3%
เมื่อเทียบรายปี ดัชนี CPI พื้นฐานพุ่งขึ้น 3.0% ในเดือนเม.ย. สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 2.3%
นักวิเคราะห์ระบุว่า การพุ่งขึ้นของดัชนี CPI ประจำเดือนเม.ย.เมื่อเทียบรายเดือน มีสาเหตุจากการดีดตัวขึ้นของราคาพลังงาน ส่วนการพุ่งขึ้นของดัชนี CPI เมื่อเทียบรายปี มีสาเหตุจากการเปรียบเทียบกับตัวเลขฐานที่ต่ำผิดปกติในเดือนเม.ย.2563 ซึ่งขณะนั้นราคาสินค้าได้ทรุดตัวลงโดยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และจากการประกาศมาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด และจะทำให้ตัวเลขดัชนี CPI เมื่อเทียบรายปี จะถูกบิดเบือนจากความเป็นจริงต่อไปอีกหลายเดือน เนื่องจากมีการเปรียบเทียบกับราคาสินค้าที่ต่ำผิดปกติในปี 2563
นักลงทุนคาดว่า ตัวเลข CPI ที่พุ่งขึ้นมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ จะทำให้เฟดชะลอการผ่อนคลายนโยบายการเงิน โดยอาจลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการ QE เพื่อสกัดเงินเฟ้อ จากปัจจุบันที่เฟดทำ QE อย่างน้อย 1.2 แสนล้านดอลลาร์/เดือน