อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐปรับตัวลงในวันนี้ หลังสหรัฐเปิดเผยตัวเลขขาดดุลการค้า
ณ เวลา 23.33 น.ตามเวลาไทย อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ร่วงลงสู่ระดับ 1.531% ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 30 ปี ปรับตัวลงสู่ระดับ 2.215%
ราคาพันธบัตร และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรจะปรับตัวในทิศทางตรงกันข้ามกัน
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขขาดดุลการค้าของสหรัฐลดลง 8.2% สู่ระดับ 6.89 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนเม.ย. ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 6.90 หมื่นล้านดอลลาร์ จากระดับ 7.50 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนมี.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์
กระทรวงพาณิชย์ยังเปิดเผยว่า การนำเข้าลดลง 1.4% สู่ระดับ 2.739 แสนล้านดอลลาร์ในเดือนเม.ย. ขณะที่การส่งออกเพิ่มขึ้น 1.1% สู่ระดับ 2.050 แสนล้านดอลลาร์
นักลงทุนจับตาดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ประจำเดือนพ.ค.ของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค หลังจากพุ่งขึ้นอย่างร้อนแรงในเดือนเม.ย.
ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐจะเปิดเผยดัชนี CPI ประจำเดือนพ.ค.ในวันพฤหัสบดีนี้ โดยนักวิเคราะห์คาดว่า ดัชนี CPI จะพุ่งขึ้น 4.7% เมื่อเทียบรายปี หลังจากดีดตัวขึ้น 4.2% ในเดือนเม.ย. ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2551
นอกจากนี้ คาดว่าดัชนี CPI พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน จะพุ่งขึ้น 3.4% ในเดือนพ.ค. เมื่อเทียบรายปี หลังจากดีดตัวขึ้น 3.0% ในเดือนเม.ย.
ก่อนหน้านี้ ดัชนี CPI ของสหรัฐดีดตัวขึ้นสูงเกินคาดในเดือนเม.ย. และหากดัชนียังคงปรับตัวอย่างร้อนแรงในเดือนพ.ค. ก็อาจทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณเร่งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และลดวงเงินในการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ในการประชุมนโยบายการเงินในวันที่ 15-16 มิ.ย.
นักวิเคราะห์ระบุว่า การพุ่งขึ้นของดัชนี CPI ประจำเดือนเม.ย.เมื่อเทียบรายเดือน มีสาเหตุจากการดีดตัวขึ้นของราคาพลังงาน ส่วนการพุ่งขึ้นของดัชนี CPI เมื่อเทียบรายปี มีสาเหตุจากการเปรียบเทียบกับตัวเลขฐานที่ต่ำผิดปกติในเดือนเม.ย.2563 ซึ่งขณะนั้นราคาสินค้าได้ทรุดตัวลงโดยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และจากการประกาศมาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด ซึ่งจะทำให้ตัวเลขดัชนี CPI เมื่อเทียบรายปี ถูกบิดเบือนจากความเป็นจริงต่อไปอีกหลายเดือน เนื่องจากมีการเปรียบเทียบกับราคาสินค้าที่ต่ำผิดปกติในปี 2563