อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐปรับตัวขึ้นในวันนี้ หลังการเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐ
ณ เวลา 20.58 น.ตามเวลาไทย อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ดีดตัวสู่ระดับ 1.492% ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 30 ปี ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 2.178%
ราคาพันธบัตร และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรจะปรับตัวในทิศทางตรงกันข้ามกัน
กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค ในวันนี้ โดยระบุว่า ดัชนี CPI ดีดตัวขึ้น 0.6% ในเดือนพ.ค. เมื่อเทียบรายเดือน สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.5% หลังจากเพิ่มขึ้น 0.8% ในเดือนเม.ย.
เมื่อเทียบรายปี ดัชนี CPI พุ่งขึ้น 5.0% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนส.ค.2551 และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 4.7% หลังจากเพิ่มขึ้น 4.2% ในเดือนเม.ย.
นอกจากนี้ หากไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ดัชนี CPI พื้นฐานพุ่งขึ้น 0.7% ในเดือนพ.ค. เมื่อเทียบรายเดือน สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.5% หลังจากเพิ่มขึ้น 0.9% ในเดือนเม.ย.
เมื่อเทียบรายปี ดัชนี CPI พื้นฐานพุ่งขึ้น 3.8% ในเดือนพ.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 29 ปี สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 3.5% หลังจากเพิ่มขึ้น 3.0% ในเดือนเม.ย.
นักวิเคราะห์ระบุว่าตัวเลขเงินเฟ้อถูกบิดเบือนจากการเปรียบเทียบกับตัวเลขฐานที่ต่ำผิดปกติในปีที่แล้ว ซึ่งขณะนั้นราคาสินค้าได้ทรุดตัวลงโดยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และจากการประกาศมาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด
นอกจากนี้ ตัวเลขเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นในเดือนพ.ค.ยังมีสาเหตุจากราคารถยนต์มือสองและรถบรรทุกที่ทะยานขึ้นมากกว่า 7% ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนการเพิ่มขึ้นราว 1 ใน 3 ของการดีดตัวขึ้นของเงินเฟ้อในเดือนพ.ค. โดยการเพิ่มขึ้นของราคารถยนต์มือสองมักเป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นเพียงชั่วคราว และเกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19