อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐปรับตัวขึ้นในวันนี้ โดยได้แรงหนุนจากการเปิดเผยดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) พุ่งเป็นประวัติการณ์ในเดือนพ.ย. ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เร่งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
ณ เวลา 22.33 น.ตามเวลาไทย อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ดีดตัวสู่ระดับ 1.460% ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 30 ปี ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 1.850%
ราคาพันธบัตร และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรจะปรับตัวในทิศทางตรงกันข้ามกัน
กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนี PPI พุ่งขึ้น 9.6% ในเดือนพ.ย. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ที่มีการรวบรวมข้อมูลดังกล่าวในเดือนพ.ย.2553 และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 9.2% หลังจากดีดตัวขึ้น 8.8% ในเดือนต.ค.
เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PPI ดีดตัวขึ้น 0.8% ในเดือนพ.ย. และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.5% หลังจากปรับตัวขึ้น 0.6% ในเดือนต.ค.
ส่วนดัชนี PPI พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 0.7% ในเดือนพ.ย. เมื่อเทียบรายเดือน และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.4%
เมื่อเทียบรายปี ดัชนี PPI พื้นฐานพุ่งขึ้น 6.9% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ที่มีการรวบรวมข้อมูลดังกล่าวในเดือนส.ค.2557 แต่ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 7.2%
ขณะเดียวกัน นักลงทุนจับตาการประชุมนโยบายการเงินของเฟดในวันที่ 14-15 ธ.ค.
ก่อนหน้านี้ นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด ส่งสัญญาณยุติโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) เร็วกว่าที่คาดไว้ ซึ่งจะปูทางให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าคาด
นายพาวเวลกล่าวว่า เฟดอาจปรับลดวงเงิน QE มากกว่าเดือนละ 15,000 ล้านดอลลาร์ โดยเฟดจะมีการหารือกันในการประชุมครั้งนี้
โกลด์แมน แซคส์ออกรายงานคาดการณ์ว่า เฟดจะเพิ่มการปรับลดวงเงิน QE เป็นเดือนละ 30,000 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 2 เท่าจากเดิมเดือนละ 15,000 ล้านดอลลาร์ โดยจะปูทางให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนมิ.ย.2565 ซึ่งเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกนับตั้งแต่ที่สหรัฐเผชิญการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปี 2563
ทางด้าน FedWatch Tool ของ CME Group ซึ่งวิเคราะห์การซื้อขายสัญญาล่วงหน้าอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นของสหรัฐ บ่งชี้ว่า นักลงทุนคาดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% เป็นครั้งแรกในเดือนพ.ค.หรือมิ.ย.2565 และมีแนวโน้ม 61% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งในปี 2565