อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีดีดตัวขึ้นทะลุระดับ 2.0% ในวันนี้ หลังสหรัฐเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อพุ่งขึ้นเกินคาด ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เร่งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
ณ เวลา 23.04 น.ตามเวลาไทย อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ดีดตัวสู่ระดับ 2.012% ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 30 ปี ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 2.304%
ราคาพันธบัตร และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรจะปรับตัวในทิศทางตรงกันข้ามกัน
โกลด์แมน แซคส์ปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี สู่ระดับ 2.25% ภายในปลายปีนี้ จากเดิมที่ระดับ 2.00% และจะแตะระดับ 2.45% ในปลายปี 2566 จากเดิมที่ระดับ 2.30%
พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีถือเป็นพันธบัตรที่ใช้อ้างอิงในการกำหนดราคาของตราสารหนี้ทั่วโลก ซึ่งรวมถึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จำนอง หากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับตัวขึ้น จะทำให้บริษัทต่างๆ เผชิญกับต้นทุนที่สูงขึ้นจากการชำระหนี้ ซึ่งจะส่งผลให้บริษัทเหล่านี้ลดการลงทุน และลดการจ่ายเงินปันผลแก่นักลงทุน
กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค พุ่งขึ้น 7.5% ในเดือนม.ค. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนก.พ.2525 และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 7.2% จากระดับ 7.0% ในเดือนธ.ค.
นอกจากนี้ ดัชนี CPI เพิ่มขึ้น 0.6% ในเดือนม.ค. เมื่อเทียบรายเดือน สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.4% จากระดับ 0.5% ในเดือนธ.ค.
ขณะเดียวกัน ดัชนี CPI พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน พุ่งขึ้น 6.0% ในเดือนม.ค. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนส.ค.2525 แลุสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 5.9% จากระดับ 5.5% ในเดือนธ.ค.
นอกจากนี้ ดัชนี CPI พื้นฐานดีดตัวขึ้น 0.6% เมื่อเทียบรายเดือน สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.4% จากระดับ 0.6% ในเดือนธ.ค.
นักลงทุนเพิ่มคาดการณ์ที่ว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในเดือนมี.ค. หลังสหรัฐเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อพุ่งขึ้นสูงสุดในรอบ 40 ปีในวันนี้ รวมทั้งเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานที่แข็งแกร่งกว่าคาดเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ทั้งนี้ FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนักมากถึง 50% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในเดือนมี.ค. จากเดิมที่เคยให้น้ำหนักเพียง 14%
นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด กล่าวก่อนหน้านี้ว่า เขาเชื่อว่าเฟดยังคงสามารถขึ้นอัตราดอกเบี้ย "ได้อีกมาก" โดยไม่ส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงาน
ทางด้านแบงก์ ออฟ อเมริกาออกรายงานคาดการณ์ว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 7 ครั้งในปีนี้ โดยปรับขึ้นครั้งละ 0.25%
หากเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามที่แบงก์ ออฟ อเมริกาคาดการณ์ หมายความว่า เฟดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมทั้ง 7 ครั้งที่เหลือในปีนี้ โดยเริ่มตั้งแต่เดือนมี.ค.
การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 7 ครั้งจะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดพุ่งแตะ 1.75-2.00% ในปลายปีนี้ จากปัจจุบันที่ระดับ 0.00-0.25%
นอกจากนี้ แบงก์ ออฟ อเมริกายังคาดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปในปี 2566 จนแตะระดับ 2.75-3.00% ก่อนที่จะมีการทบทวนนโยบายการเงิน