ตลาดบอนด์สหรัฐเกิด inverted yield curve ส่งสัญญาณเศรษฐกิจถดถอย

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday June 16, 2022 17:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ตลาดพันธบัตรสหรัฐเกิดภาวะ inverted yield curve ในวันนี้ โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 5 ปีดีดตัวสูงกว่าอายุ 10 ปีและ 30 ปี หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ ซึ่งทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย

ณ เวลา 17.40 น.ตามเวลาไทย อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปี อยู่ที่ระดับ 3.533% โดยสูงกว่าพันธบัตรอายุ 10 ปี ซึ่งอยู่ที่ระดับ 3.435% ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 30 ปี อยู่ระดับ 3.441%

ตลาดพันธบัตรสหรัฐเกิดภาวะ inverted yield curve โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นดีดตัวเหนือพันธบัตรระยะยาว ซึ่งเป็นการบ่งชี้ถึงแนวโน้มการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย

ที่ผ่านมา ภาวะ inverted yield curve มักเกิดขึ้นจากการที่นักลงทุนพากันเทขายพันธบัตรระยะสั้น และเข้าซื้อพันธบัตรระยะยาว ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจในระยะสั้น โดยนักลงทุนกังวลว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะได้รับผลกระทบจากการที่เฟดเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ

ก่อนหน้านี้ เหตุการณ์อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 5 ปีพุ่งขึ้นสูงกว่าพันธบัตรอายุ 30 ปีได้เกิดขึ้นในปี 2549 ก่อนที่จะเกิดวิกฤตการเงินทั่วโลกในเวลาเพียงไม่กี่ปีถัดมา

ทั้งนี้ เฟดมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.75% สู่ระดับ 1.50-1.75% ในการประชุมวานนี้ ซึ่งเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 28 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 2537

นอกจากนี้ ในการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot) เจ้าหน้าที่เฟดคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยจะแตะระดับ 3.4% ในช่วงสิ้นปีนี้ ซึ่งบ่งชี้ว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 1.75% ภายในปีนี้ และคาดว่าอัตราดอกเบี้ยจะปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 3.8% ในสิ้นปี 2566 ก่อนที่จะชะลอตัวสู่ระดับ 3.4% ในปี 2567 ขณะที่อัตราดอกเบี้ยระยะยาวอยู่ที่ 2.5%

ขณะเดียวกัน เฟดได้ปรับลดตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐในปีนี้ สู่ระดับ 1.7% จากเดิมคาดการณ์ที่ระดับ 2.8% ในเดือนมี.ค.

ทางด้านกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยก่อนหน้านี้ว่า เศรษฐกิจสหรัฐหดตัว 1.5% ในไตรมาส 1/65 ซึ่งเป็นการหดตัวครั้งแรกนับตั้งแต่ที่เศรษฐกิจเผชิญภาวะถดถอยโดยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงต้นปี 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ