ศรีลังกาถูกฟ้องดำเนินคดีในสหรัฐ หลังผิดนัดชำระหนี้พันธบัตร

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday June 22, 2022 13:47 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

รัฐบาลศรีลังกาถูกผู้ถือพันธบัตรรายหนึ่งยื่นฟ้องดำเนินคดีในสหรัฐ หลังจากผิดนัดชำระหนี้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ อันเนื่องมาจากวิกฤตเศรษฐกิจภายในประเทศที่เกิดขึ้นจนถึงขณะนี้ แม้รัฐบาลพยายามออกมาตรการแก้ไขก็ตาม

ธนาคารฮามิลตัน รีเสิร์ฟ แบงก์ (Hamilton Reserve Bank) ซึ่งถือพันธบัตรรัฐบาลศรีลังกามูลค่ากว่า 250 ล้านดอลลาร์ ได้ยื่นฟ้องต่อศาลรัฐนิวยอร์กในวันอังคาร (21 มิ.ย.) เพื่อให้ศรีลังกาชำระคืนเงินต้นเต็มจำนวนพร้อมอัตราดอกเบี้ย โดยพันธบัตรดังกล่าวกำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 5.875% และจะครบกำหนดไถ่ถอนในวันที่ 25 ก.ค.นี้

ศรีลังกาผิดนัดชำระหนี้พันธบัตรในเดือนพ.ค.หลังจากระยะเวลาผ่อนผันชำระหนี้ (grace period) ระยะ 30 วันของพันธบัตรจำนวน 2 ชุดได้สิ้นสุดลง และถือเป็นครั้งแรกที่ศรีลังกาผิดนัดชำระหนี้นับตั้งแต่ได้รับเอกราชจากสหราชอาณาจักรในปี 2491

ฮามิลตัน รีเสิร์ฟ แบงก์ระบุว่า การยื่นฟ้องดำเนินคดีในครั้งนี้ รวมถึงการฟ้องเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลศรีลังกาและครอบครัวราชปักษะ และกล่าวโทษรัฐบาลศรีลังกาที่ตัดพันธบัตรที่ถือครองโดยธนาคารภายในประเทศ และผู้มีส่วนได้เสียอื่น ๆ ออกจากการประกาศปรับโครงสร้างหนี้

"ด้วยเหตุผลดังกล่าว ผู้มีส่วนได้เสียของศรีลังกาจะต้องได้รับการจ่ายเงินต้นและอัตราดอกเบี้ยเต็มจำนวน ขณะที่พันธบัตรของศรีลังกาซึ่งถือครองโดยกองทุนบำนาญหลายแห่งของสหรัฐ เช่น ฟิเดลิตี้ อินเวสต์เมนท์, แบล็กร็อก, ที โรว์ ไพรซ์, ลอร์ด แอบเบตต์, เจพีมอร์แกน, พิมโค, นิวเบอร์เกอร์ เบอร์แมน และนักลงทุนสหรัฐรายอื่น ๆ ยังคงถูกผิดนัดชำระหนี้ และไม่ได้รับการจ่ายเงิน ซึ่งส่งผลให้ชาวอเมริกันในวัยเกษียณได้รับความเดือดร้อนจากการขาดทุนมากถึง 80% ของมูลค่าการลงทุนเบื้องต้น" ทนายความของฮามิลตัน รีเสิร์ฟ แบงก์ระบุในคำฟ้อง

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานโดยอ้างแหล่งข่าวว่า กลุ่มเจ้าหนี้รายใหญ่ของศรีลังกา ซึ่งรวมถึงแปซิฟิก อินเวสต์เมนท์ แมเนจเมนท์, ที โรว์ ไพรซ์ กรุ๊ป และแบล็กร็อก เตรียมเปิดฉากการเจรจาเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ในเร็ว ๆ นี้

ทั้งนี้ ศรีลังกากำลังเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจครั้งเลวร้ายที่สุดในรอบ 74 ปี โดยสาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากการขาดแคลนเงินตราต่างประเทศที่ใช้ในการชำระค่านำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง รวมทั้งเกิดภาวะขาดแคลนอาหารและยา ซึ่งจุดชนวนให้ความโกรธแค้นของประชาชนปะทุขึ้น และออกมาประท้วงตามท้องถนน

ภาวะขาดแคลนเงินสดของศรีลังกาส่งผลให้รัฐบาลต้องบังคับใช้มาตรการควบคุมเงินทุน (Capital Control), ควบคุมการนำเข้า และเจรจาต่อรองเงื่อนไขกับผู้ถือพันธบัตรเพื่อหลีกเลี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ นอกจากนี้ รัฐบาลศรีลังกายังหันไปพึ่งพาเงินกู้จากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ