อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐปรับตัวลง ก่อนที่สหรัฐจะเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในวันนี้
ณ เวลา 18.51 น.ตามเวลาไทย อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ร่วงลงสู่ระดับ 3.318% ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 30 ปี ปรับตัวลงสู่ระดับ 3.481%
นักลงทุนจับตาการเปิดเผยดัชนี CPI ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค ประจำเดือนส.ค.ในวันนี้ โดยดัชนี CPI เป็นข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญตัวสุดท้าย ก่อนที่เฟดจะจัดการประชุมนโยบายการเงินในวันที่ 20-21 ก.ย.
นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าตัวเลข CPI ดังกล่าวจะบ่งชี้ว่าเงินเฟ้อของสหรัฐได้ผ่านจุดสูงสุดแล้ว
ทั้งนี้ ผลการสำรวจนักวิเคราะห์คาดว่า ดัชนี CPI ทั่วไป ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 8.1% ในเดือนส.ค. เมื่อเทียบรายปี โดยชะลอตัวจากระดับ 8.5% ในเดือนก.ค.
ก่อนหน้านี้ ดัชนี CPI ทั่วไปพุ่งแตะระดับ 9.1% ในเดือนมิ.ย. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี
เมื่อเทียบรายเดือน คาดว่าดัชนี CPI ทั่วไปปรับตัวลง 0.1% ในเดือนส.ค. โดยมีสาเหตุจากการดิ่งลงของราคาพลังงาน
หากดัชนี CPI ทั่วไปปรับตัวลงในเดือนส.ค.เมื่อเทียบรายเดือน ก็จะเป็นการปรับตัวลงเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนพ.ค.2563
นอกจากนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐปรับตัวลง สอดคล้องกับดอลลาร์ที่อ่อนค่าลง ขณะที่ผู้บริโภคลดคาดการณ์เงินเฟ้อ
ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขานิวยอร์ก เปิดเผยผลสำรวจพบว่า ตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อของผู้บริโภคสหรัฐสำหรับระยะเวลา 1 ปีและ 3 ปีข้างหน้าได้ลดลงอย่างมากในเดือนส.ค.
ตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อดังกล่าวบ่งชี้ความสำเร็จของเฟดในการสกัดการพุ่งขึ้นของคาดการณ์เงินเฟ้อ
ทั้งนี้ ผู้บริโภคคาดการณ์ว่าในช่วง 1 ปีข้างหน้า อัตราเงินเฟ้อจะแตะระดับ 5.75% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนต.ค.2564 จากระดับ 6.2% ที่มีการสำรวจในเดือนก.ค.
การร่วงลงของคาดการณ์เงินเฟ้อในช่วง 1 ปีข้างหน้าได้รับแรงหนุนจากการที่ผู้บริโภคลดคาดการณ์ราคาน้ำมันและอาหาร
ส่วนตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อระยะ 3 ปีข้างหน้าปรับตัวลงสู่ระดับ 2.8% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2563 จากเดิมคาดการณ์ที่ระดับ 3.2% ในเดือนก.ค.
ทั้งนี้ ตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อเป็นข้อมูลที่นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด ยอมรับว่ามีผลต่อการตัดสินใจในการประชุมนโยบายการเงินของเฟด