ตลาดพันธบัตรสหรัฐเกิดภาวะ inverted yield curve ในวันนี้ โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นดีดตัวเหนือพันธบัตรระยะยาว ซึ่งเป็นการบ่งชี้ถึงแนวโน้มการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย
ทั้งนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 2 ปี ซึ่งมีความอ่อนไหวต่อนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ดีดตัวเหนือระดับ 4.25% และอยู่สูงกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีและ 30 ปี
ณ เวลา 22.10 น.ตามเวลาไทย อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 2 ปี อยู่ที่ระดับ 4.251% ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปี ร่วงลงสู่ระดับ 3.474% และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 30 ปี ปรับตัวลงสู่ระดับ 3.494%
ที่ผ่านมา ภาวะ inverted yield curve มักเกิดขึ้นจากการที่นักลงทุนพากันเทขายพันธบัตรระยะสั้น และเข้าซื้อพันธบัตรระยะยาว ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจในระยะสั้น โดยนักลงทุนกังวลว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะได้รับผลกระทบจากการที่เฟดเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ
สหรัฐเปิดเผยตัวเลขยอดค้าปลีกดิ่งลงมากกว่าคาดในวันนี้ ส่งผลให้นักลงทุนกังวลว่าการที่เฟดเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะฉุดเศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอย
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ยอดค้าปลีกดิ่งลง 0.6% ในเดือนพ.ย. ซึ่งเป็นการร่วงลงมากที่สุดในรอบ 11 เดือน ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าปรับตัวลงเพียง 0.1% หลังจากพุ่งขึ้น 1.3% ในเดือนต.ค.
ยอดค้าปลีกได้รับผลกระทบจากเงินเฟ้อ ซึ่งส่งผลให้ราคาสินค้าเพิ่มขึ้น ขณะที่เงินออมลดลง ท่ามกลางแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอ
ส่วนยอดค้าปลีกพื้นฐาน ซึ่งไม่รวมยอดขายรถยนต์ น้ำมัน วัสดุก่อสร้าง และอาหาร ลดลง 0.2% ในเดือนพ.ย. หลังจากเพิ่มขึ้น 0.5% ในเดือนต.ค.
ทั้งนี้ คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟด (FOMC) มีมติเป็นเอกฉันท์ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.50% สู่ระดับ 4.25-4.50% ในการประชุมวานนี้ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 15 ปี
ในการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot) เจ้าหน้าที่เฟดคาดว่าจะยังคงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปในปี 2566 และจะไม่มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยจนกว่าจะถึงปี 2567 โดยเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสูงสุดสู่ระดับ 5.1% ในปีหน้า ซึ่งสูงกว่าคาดการณ์เดิมของตลาด และจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับดังกล่าวเป็นระยะเวลาหนึ่ง เพื่อจับตาดูผลกระทบของการคุมเข้มนโยบายการเงินที่มีต่อเศรษฐกิจสหรัฐ