อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐดีดตัวขึ้น หลังสหรัฐเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นเกินคาด และตลาดแรงงานที่แข็งแกร่ง ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)
ณ เวลา 22.07 น.ตามเวลาไทย อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี อยู่ที่ระดับ 3.861% ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 30 ปี อยู่ที่ระดับ 3.906%
กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้ผลิต ประจำเดือนม.ค.ในวันนี้ โดยตัวเลข PPI ดังกล่าวสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้
ทั้งนี้ ดัชนี PPI ทั่วไป ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน เพิ่มขึ้น 6.0% ในเดือนม.ค. เมื่อเทียบรายปี และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 5.4%
เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PPI ทั่วไปเพิ่มขึ้น 0.7% ในเดือนม.ค. ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนมิ.ย.2565 ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าเพิ่มขึ้น 0.4%
ส่วนดัชนี PPI พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน เพิ่มขึ้น 4.5% ในเดือนม.ค. เมื่อเทียบรายปี
เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PPI พื้นฐานปรับตัวขึ้น 0.5% ในเดือนม.ค. ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าเพิ่มขึ้น 0.3%
ก่อนหน้านี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค ประจำเดือนม.ค.ในวันอังคาร โดยตัวเลข CPI สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์เช่นกัน
นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลง 1,000 ราย สู่ระดับ 194,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 200,000 ราย
ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานดังกล่าวต่ำกว่าระดับ 215,000 ราย ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยต่อสัปดาห์ในช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในสหรัฐ
นักลงทุนคาดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนานกว่าที่คาดไว้ และจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสูงสุดสู่ระดับ 5.5% หลังสหรัฐเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อที่สูงเกินคาด และตลาดแรงงานที่แข็งแกร่ง
ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนคาดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% อีก 3 ครั้งในการประชุมเดือนมี.ค., พ.ค. และมิ.ย. สู่ระดับสูงสุดที่ 5.25-5.50% และคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับดังกล่าว ก่อนที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในเดือนธ.ค.