ตลาดพันธบัตรสหรัฐเกิดภาวะ inverted yield curve ในวันนี้ โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นดีดตัวเหนือพันธบัตรระยะยาว ซึ่งเป็นการบ่งชี้ถึงแนวโน้มการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย
ทั้งนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 6 เดือน ดีดตัวทะลุระดับ 5% ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 2 ปี ซึ่งมีความอ่อนไหวต่อนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับตัวใกล้ 4.8% และอยู่สูงกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีและ 30 ปี
ณ เวลา 22.34 น.ตามเวลาไทย อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 6 เดือนอยู่ที่ระดับ 5.118% ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 2 ปี อยู่ที่ระดับ 4.799% ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปี อยู่ที่ระดับ 3.939% และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 30 ปี อยู่ที่ระดับ 3.913%
ที่ผ่านมา ภาวะ inverted yield curve มักเกิดขึ้นจากการที่นักลงทุนพากันเทขายพันธบัตรระยะสั้น และเข้าซื้อพันธบัตรระยะยาว ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจในระยะสั้น โดยนักลงทุนกังวลว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะได้รับผลกระทบจากการที่เฟดเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ
นักลงทุนคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแรงกว่าคาดเพื่อสกัดเงินเฟ้อ หลังการเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ที่พุ่งขึ้นเกินคาดในวันนี้ เป็นการตอกย้ำว่าเงินเฟ้อยังไม่ผ่านจุดสูงสุด หลังจากที่ก่อนหน้านี้สหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) และดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ที่สูงกว่าคาดเช่นกัน
นักลงทุนเพิ่มคาดการณ์ที่ว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในเดือนมี.ค. หลังการเปิดเผยดัชนี PCE ในวันนี้
ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 41.7% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% สู่ระดับ 5.00-5.25% ในการประชุมวันที่ 21-22 มี.ค. หลังจากที่เมื่อเดือนที่แล้วให้น้ำหนักเพียง 2.8%
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนี PCE ทั่วไป ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ดีดตัวขึ้น 5.4% ในเดือนม.ค. เมื่อเทียบรายปี และสูงกว่าระดับ 5.3% ในเดือนธ.ค.
เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE ทั่วไป เพิ่มขึ้น 0.6% ในเดือนม.ค. และสูงกว่าระดับ 0.2% ในเดือนธ.ค.
ส่วนดัชนี PCE พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ เพิ่มขึ้น 4.7% ในเดือนม.ค. เมื่อเทียบรายปี และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 4.4%
เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE พื้นฐานปรับตัวขึ้น 0.6% ในเดือนม.ค. และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.5%
ทั้งนี้ ดัชนี PCE ถือเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่สามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าข้อมูลดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)