ตลาดบอนด์เกิด inverted yield curve ส่งสัญญาณเศรษฐกิจถดถอย

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday April 10, 2023 19:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ตลาดพันธบัตรสหรัฐยังคงเกิดภาวะ inverted yield curve ในวันนี้ โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นดีดตัวเหนือพันธบัตรระยะยาว ซึ่งเป็นการบ่งชี้ถึงแนวโน้มการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย

ทั้งนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 6 เดือน ใกล้แตะระดับ 5% ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 2 ปี ซึ่งมีความอ่อนไหวต่อนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับตัวใกล้ 4% และอยู่สูงกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีและ 30 ปี

ณ เวลา 19.44 น.ตามเวลาไทย อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 6 เดือนอยู่ที่ระดับ 4.961% ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 2 ปี อยู่ที่ระดับ 3.956% ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปี อยู่ที่ระดับ 3.361% และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 30 ปี อยู่ที่ระดับ 3.579%

ที่ผ่านมา ภาวะ inverted yield curve มักเกิดขึ้นจากการที่นักลงทุนพากันเทขายพันธบัตรระยะสั้น และเข้าซื้อพันธบัตรระยะยาว ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจในระยะสั้น โดยนักลงทุนกังวลว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะได้รับผลกระทบจากการที่เฟดเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ

ซิตี้กรุ๊ปออกรายงานคาดการณ์ว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% อีก 3 ครั้งในปีนี้ ซึ่งจะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยของเฟดแตะระดับสูงสุด 5.50-5.75% ท่ามกลางเงินเฟ้อที่พุ่งสูง และตลาดแรงงานที่แข็งแกร่ง

"ไม่เพียงแต่ปัจจัยตลาดแรงงานที่แข็งแกร่งและเงินเฟ้อสูงจะทำให้เฟดไม่มีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ย แต่เราเห็นว่าการที่เงินเฟ้ออยู่ในภาวะแข็งแกร่งเกินไปอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการเปิดเผยตัวเลข CPI ในสัปดาห์นี้ที่อาจดีดตัวขึ้น 0.5% เมื่อเทียบรายเดือน จะทำให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกหลายครั้ง" รายงานระบุ

ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 63.4% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.00-5.25% ในการประชุมวันที่ 2-3 พ.ค. และให้น้ำหนักเพียง 36.6% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 4.75-5.00%

นักลงทุนมองว่าตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรใกล้เคียงกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ ขณะที่อัตราการว่างงานที่ลดลง บ่งชี้ถึงภาวะตึงตัวในตลาดแรงงานสหรัฐ ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด

ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 236,000 ตำแหน่งในเดือนมี.ค. ใกล้เคียงกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 238,000 ตำแหน่ง

ส่วนอัตราการว่างงานลดลงสู่ระดับ 3.5% ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะทรงตัวที่ระดับ 3.6%

นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐยังได้ปรับเพิ่มตัวเลขการจ้างงานในเดือนก.พ. โดยปรับเป็นเพิ่มขึ้น 326,000 ตำแหน่ง จากเดิมรายงานว่าเพิ่มขึ้น 311,000 ตำแหน่ง

นักลงทุนจับตาตัวเลขเงินเฟ้อ รวมทั้งรายงานการประชุมของเฟดที่จะมีการเปิดเผยในวันพุธที่ 12 เม.ย. โดยสหรัฐจะเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ประจำเดือนมี.ค. รวมทั้งรายงานการประชุมนโยบายการเงินของเฟดประจำวันที่ 21-22 มี.ค.ในวันดังกล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ