อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐปรับตัวลง ขณะที่นักลงทุนพากันเข้าซื้อพันธบัตรในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ท่ามกลางความวิตกเกี่ยวกับวิกฤตธนาคารและเพดานหนี้ในสหรัฐ
นอกจากนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรถูกกดดัน หลังการชะลอตัวของดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) และดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งบ่งชี้ว่าเงินเฟ้อได้ผ่านจุดสูงสุดแล้ว ซึ่งจะเป็นปัจจัยชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)
ณ เวลา 21.00 น.ตามเวลาไทย อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี อยู่ที่ระดับ 3.368% ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 30 ปี อยู่ที่ระดับ 3.748%
ทั้งนี้ ราคาพันธบัตรและอัตราผลตอบแทนจะปรับตัวสวนทางกัน
ราคาหุ้นแพคเวสต์ แบงคอร์ป (PacWest Bancorp) บริษัทแม่ของธนาคารแปซิฟิก เวสเทิร์น แบงก์ ซึ่งเป็นธนาคารประจำภูมิภาคของสหรัฐ ดิ่งลงอย่างหนักในวันนี้ ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับสถานะทางการเงินของทางธนาคาร
ทั้งนี้ แพคเวสต์ระบุในเอกสารแจ้งต่อคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐ (SEC) ว่า เงินฝากของธนาคารลดลง 9.5% ในสัปดาห์ที่แล้ว
เอกสารระบุว่า เงินฝากส่วนใหญ่ไหลออก หลังสื่อรายงานว่า ทางธนาคารกำลัง "สำรวจทางเลือกด้านกลยุทธ์ทั้งหมด"
ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า คำว่า "สำรวจทางเลือกด้านกลยุทธ์ทั้งหมด" ถือเป็นการส่งสัญญาณ "ช่วยด้วย!" ซึ่งธนาคารล่าสุดที่ได้ประกาศว่า กำลัง "สำรวจทางเลือกด้านกลยุทธ์ทั้งหมด" ก็คือ ธนาคารเฟิร์สท์ รีพับลิก แบงก์ (FRB) ก่อนที่จะถูกบรรษัทค้ำประกันเงินฝากของรัฐบาลกลางสหรัฐ (FDIC) เข้าพิทักษ์ทรัพย์ และเจพีมอร์แกน เชส เข้าซื้อกิจการในที่สุด
นอกจากนี้ แพคเวสต์ระบุว่า ธนาคารยังคงมีสภาพคล่อง 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ ขณะที่ปริมาณเงินฝากที่ไม่ได้รับการคุ้มครองจาก FDIC อยู่ที่ระดับ 5.2 พันล้านดอลลาร์
เอกสารดังกล่าวจากแพคเวสต์ที่มีการเปิดเผยในวันนี้ สวนทางกับแถลงการณ์ของทางธนาคารเมื่อวันที่ 4 พ.ค. ซึ่งระบุว่า ธนาคารไม่พบการไหลออกของเงินฝากที่ผิดปกติ และเงินฝากได้เพิ่มขึ้นนับตั้งแต่สิ้นเดือนมี.ค.
ทั้งนี้ เงินฝากของแพคเวสต์ดิ่งลง 16.9% ในช่วงไตรมาส 1/2566
ตลาดจับตาการหารือรอบ 2 ระหว่างประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ และนายเควิน แมคคาร์ธี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ ซึ่งจะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้ หลังการเจรจาเมื่อวันอังคารเกี่ยวกับการเพิ่มเพดานหนี้ไม่ประสบความคืบหน้าแต่อย่างใด
หากทำเนียบขาวและสภาคองเกรสไม่สามารถบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับการเพิ่มเพดานหนี้ภายในวันที่ 1 มิ.ย. ก็จะส่งผลให้สหรัฐเผชิญกับการผิดนัดชำระหนี้ครั้งประวัติศาสตร์