อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐดีดตัวขึ้น ขานรับตัวเลขเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
ณ เวลา 23.33 น.ตามเวลาไทย อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี อยู่ที่ระดับ 3.756% ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 30 ปี อยู่ที่ระดับ 3.830%
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานว่า ยอดขายบ้านใหม่พุ่งขึ้น 12.2% สู่ระดับ 763,000 ยูนิตในเดือนพ.ค. เมื่อเทียบรายเดือน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนก.พ.2565 และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 675,000 ยูนิต จากระดับ 680,000 ยูนิตในเดือนเม.ย.
ผลสำรวจของ Conference Board ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยเศรษฐกิจ ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 109.7 ในเดือนมิ.ย. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนม.ค.2565 และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 104.0 จากระดับ 102.5 ในเดือนพ.ค.
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนของสหรัฐ เช่น เครื่องบิน รถยนต์ และเครื่องจักรขนาดใหญ่ที่มีอายุการใช้งานตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป พุ่งขึ้น 1.7% ในเดือนพ.ค. โดยปรับตัวขึ้นเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน และสวนทางนักวิเคราะห์ที่คาดลดลง 0.9%
นักลงทุนจับตาถ้อยแถลงของนายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในสัปดาห์นี้ เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของเฟด
ทั้งนี้ นายพาวเวลมีกำหนดเข้าร่วมการเสวนาว่าด้วยนโยบายการเงินของธนาคารกลาง ซึ่งธนาคารกลางยุโรป (ECB) จัดขึ้นที่เมืองซินตรา ประเทศโปรตุเกส ในวันพุธที่ 28 มิ.ย.
นอกจากนี้ นายพาวเวลมีกำหนดเข้าร่วมการเสวนาว่าด้วยเสถียรภาพทางการเงิน ซึ่งธนาคารกลางสเปนจัดขึ้นที่กรุงมาดริดในวันพฤหัสบดีที่ 29 มิ.ย.
ก่อนหน้านี้ ในการกล่าวถ้อยแถลงต่อสภาคองเกรสในสัปดาห์ที่แล้ว นายพาวเวลกล่าวย้ำว่าเฟดจะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ และส่งสัญญาณว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 2 ครั้ง สู่ระดับ 5.50-5.75% ภายในสิ้นปีนี้
นายพาวเวลยังกล่าวว่า การประกาศคงอัตราดอกเบี้ยของเฟดในการประชุมนโยบายการเงินในเดือนนี้ เป็นเพียงการพักการดำเนินการด้านอัตราดอกเบี้ยเพียงชั่วคราว มากกว่าที่จะบ่งชี้ว่าเฟดได้ยุติวงจรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
ขณะเดียวกัน นักลงทุนจับตาดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ซึ่งจะมีการเปิดเผยในวันศุกร์ โดยดัชนีดังกล่าวเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ ซึ่งสามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)