ความเสี่ยงด้านการเมืองในประเทศไทยยังคงทำให้นักลงทุนต่างชาติมีความกังวลเกี่ยวกับการลงทุนในพันธบัตรของไทย แม้ว่านักลงทุนกลุ่มนี้ได้เริ่มกลับเข้าสู่ตลาดในเดือนพ.ค.เป็นครั้งแรกในรอบ 6 เดือนก็ตาม
กองทุนต่างชาติเข้าซื้อพันธบัตรของไทยมูลค่า 511 ล้านดอลลาร์สหรัฐในเดือนพ.ค. แต่ตัวเลขดังกล่าวยังต่ำกว่าการเข้าซื้อพันธบัตรในอินโดนีเซีย อินเดีย และเกาหลีใต้ นอกจากนี้ ดัชนีชี้วัดการทำโพสิชันของนักลงทุนต่างชาติเมื่อเทียบกับแนวโน้มในอดีตที่ผ่านมายังพบว่า การลงทุนในพันธบัตรของไทยอยู่ในระดับต่ำสุดเมื่อเทียบกับบรรดาประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเอเชีย
ความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และรัฐบาลไทยกำลังส่งผลให้ตลาดต่าง ๆ ของไทยเผชิญกับความเสี่ยงมากขึ้น ตลอดจนคดีทางกฎหมายที่สั่นคลอนสถานะของนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน และความกังวลเกี่ยวกับการกู้ยืมที่ระดับสูงของรัฐบาล ได้ส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของเงินบาทและพันธบัตรของไทย
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุนของธนาคารกรุงไทยได้แสดงความเห็นว่า "ในระยะสั้นนี้ ความไม่แน่นอนทางการเมืองจะยิ่งเพิ่มความผันผวนในตลาด ซึ่งอาจจะทำให้นักลงทุนต่างชาติหลีกเลี่ยงการซื้อสินทรัพย์ในไทย แม้ว่าตลาดหุ้นและพันธบัตรของไทยค่อนข้างอยู่ในระดับที่น่าดึงดูดใจก็ตาม"
ทั้งนี้ กระแสคาดการณ์ที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในปีนี้ หลังจากมีการเปิดเผยข้อมูลแรงงานที่อ่อนแอเกินคาดนั้น ได้ส่งผลให้ราคาพันธบัตรและสกุลเงินในตลาดเกิดใหม่ของเอเชียปรับตัวขึ้นในเดือนพ.ค. แต่พันธบัตรของไทยกลับได้ประโยชน์น้อยมากจากความคึกคักที่เกิดขึ้นทั่วโลก ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรของไทยปรับตัวขึ้น 0.06% ในเดือนพ.ค. โดยปัจจุบันอัตราผลตอบแทนพันธบัตรของไทยอยู่ที่ระดับราว 2.82% ซึ่งใกล้เคียงกับระดับสูงสุดในปีนี้
ส่วนการทำโพสิชันของนักลงทุนต่างชาติในสกุลเงินบาทของไทยนั้นยังคงเบาบาง เนื่องจากมีกระแสเงินไหลออกจากประเทศในปีที่ผ่านมา โดยค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard deviation - SD) อยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีอยู่ 1.1 สวนทางกับค่า SD ในอินโดนีเซีย อินเดีย และเกาหลีใต้ที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งส่งสัญญาณว่านักลงทุนต่างชาติเข้าทำโพสิชันในพันธบัตรของ 3 ประเทศเหล่านี้มากกว่าของไทย
สำนักข่าวบลูมเบิร์กระบุว่า การที่รัฐบาลของนายเศรษฐากำลังหารือแนวทางในการควบคุมธปท. หลังจากรัฐบาลและธปท.มีความขัดแย้งด้านนโยบายเศรษฐกิจนั้น ยิ่งทำให้นักลงทุนมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับความเป็นองค์กรอิสระของธปท.
ด้านนักกลยุทธ์ของบริษัทโกลด์แมน แซคส์ ซึ่งรวมถึงนายแดนนี สุวรรณพรูติ และนายแอนดรูว์ ทิลตันกล่าวว่า โกลด์แมน แซคส์ยังคงมีมุมมองเชิงลบเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยและสกุลเงินบาทของไทย โดยมองว่าการขาดดุลงบประมาณที่เพิ่มขึ้นจะยิ่งทำให้ไทยจำเป็นต้องกู้ยืมเงินมากขึ้นในปีนี้และปีหน้า พร้อมกับคาดการณ์ว่า ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างไทยและสหรัฐที่ปรับตัวกว้างขึ้น รวมทั้งปัญหาโครงสร้างในระบบเศรษฐกิจไทยนั้น จะยิ่งสร้างแรงกดดันต่อค่าเงินบาท