บอนด์ยีลด์ร่วงใกล้หลุด 4.2% หลังเผยดัชนี PCE

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday July 26, 2024 20:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีร่วงลงใกล้หลุดระดับ 4.2% หลังการเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ที่สอดคล้องคาดการณ์ในวันนี้

ณ เวลา 20.28 น.ตามเวลาไทย อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี อยู่ที่ระดับ 4.203% ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 30 ปี อยู่ที่ระดับ 4.457%

นักลงทุนเทน้ำหนัก 100% ต่อคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในปีนี้ในเดือนก.ย. หลังการเปิดเผยดัชนี PCE ในวันนี้

นอกจากนี้ นักลงทุนคาดว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งในปีนี้ โดยจะเกิดขึ้นในเดือนก.ย., พ.ย. และธ.ค.

ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 89.6% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมเดือนก.ย. ขณะที่ให้น้ำหนัก 10.2% และ 0.2% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.50% และ 0.75% ในเดือนดังกล่าวตามลำดับ

นอกจากนี้ นักลงทุนให้น้ำหนัก 60.4% ที่เฟดจะลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 4.75-5.00% ในการประชุมเดือนพ.ย. หลังจากที่ให้น้ำหนักเพียง 57.5% เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

ขณะเดียวกัน นักลงทุนให้น้ำหนัก 56.4% ที่เฟดจะลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 4.50-4.75% ในการประชุมเดือนธ.ค. หลังจากที่ให้น้ำหนักเพียง 49.5% เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลทั่วไป (Headline PCE) ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 2.5% ในเดือนมิ.ย. เมื่อเทียบรายปี สอดคล้องตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ จากระดับ 2.6% ในเดือนพ.ค.

เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE ทั่วไป ปรับตัวขึ้น 0.1% ในเดือนมิ.ย. สอดคล้องตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ หลังจากปรับตัวขึ้น 0.0% หรือไม่มีการเปลี่ยนแปลงในเดือนพ.ค.

ส่วนดัชนี PCE พื้นฐาน (Core PCE) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญ ปรับตัวขึ้น 2.6% ในเดือนมิ.ย. เมื่อเทียบรายปี สอดคล้องตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ จากระดับ 2.6% ในเดือนพ.ค.

เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE พื้นฐานปรับตัวขึ้น 0.2% ในเดือนมิ.ย. สอดคล้องตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ จากระดับ 0.1% ในเดือนพ.ค.

ทั้งนี้ ดัชนี PCE ถือเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่สามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ